นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด กล่าวว่า "หนึ่งใน ecosystem ที่ SCB 10X ให้ความสนใจที่จะเข้าไปศึกษาและพัฒนา คือ Decentralized Finance (DeFi) หรือ บริการทางการเงินแบบไร้ศูนย์กลางบนบล็อกเชน ซึ่งเราเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะกลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่สำหรับการดำเนินธุรกิจในโลกอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ DeFi ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยยกระดับบริการทางการเงินทั่วโลก ให้สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้พรมแดน เราจึงมุ่งมั่นในการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีบล็อกเชน ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาเราได้ร่วมมือกับ Band Protocol บริษัทพัฒนาบล็อกเชนด้าน Data Oracle อันดับหนึ่งของเมืองไทย และ Alpha Finance Lab โดยการส่งนักพัฒนาจาก SCB 10X ไปร่วมศึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้าน DeFi ออกสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ SCB 10X ยังได้จัดตั้ง Blockchain Lab ที่รวบรวมทีมผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนขึ้นภายในองค์กรเพื่อพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ด้านบล็อกเชนให้เกิดขึ้น เช่น กรณีนี้ที่เข้าเป็นหนึ่งในผู้ดูแล Node ของ Band Protocol เป็นต้น เพื่อเข้าใจและนำศักยภาพต่าง ๆ ของระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (DeFi) มาปรับใช้งานจริงในภาคธุรกิจ ก่อนต่อยอดสู่บริการทางการเงินอื่นๆ ต่อไปในอนาคต"
"ในครั้งนี้ความร่วมมือของเราทั้งสององค์กรได้ขยายขอบเขตมาสู่ขั้นตอนที่ได้ร่วมลงมือปฏิบัติ ผ่านการร่วมเป็นหนึ่งในผู้ดูแล Node หรือ Validator บนเครือข่ายบล็อกเชนของ Band Protocol ซึ่งเป็นระบบการเงินบนเครือข่ายที่ไม่มีศูนย์กลาง โดยระบบจะกระจายอำนาจให้กับสมาชิกต่าง ๆ ในเครือข่าย (peer-to-peer network) เป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม ซึ่ง SCB 10X จะร่วมทำหน้าที่ในการช่วยตรวจสอบ ยืนยัน และเก็บข้อมูลของธุรกรรมการเงินต่าง ๆ เป็นสำเนาชุดเดียวกันร่วมกับคนในเครือข่าย โดยการทำธุรกรรมในหนึ่งครั้งจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ดูแล Node ทุก Node ในระบบ ธุรกรรมนั้นจึงจะถือว่าสำเร็จ ทำให้การให้บริการทางการเงินแบบกระจายอำนาจนี้มีความโปร่งใส เชื่อถือได้ และสามารถตรวจสอบได้ในทุกธุรกรรม การร่วมเป็นหนึ่งในผู้ดูแล Node ของ SCB 10X ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในเอเชียที่บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของไทยมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (DeFi) อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม เพราะเราจะมีสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบ (Voting Power) ซึ่งนับเป็นก้าวแรกในการปรับตัวและเรียนรู้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของมิติใหม่ในอุตสาหกรรมการเงินในโลกยุคดิจิทัล และการธนาคารของประเทศไทยในอนาคต" นายกวีวุฒิ กล่าวเสริม
ที่มา: ธนาคารไทยพาณิชย์