ทุกวันนี้ นอกจากชีวิตประจำวันของเราที่ย้ายไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ความต้องการบริการด้านการเงินดิจิทัลและบริการด้านเทคโนโลยีการเงินในรูปแบบอื่นๆก็เพิ่มขึ้นด้วย ชีวิตวิถีใหม่ที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดก่อให้เกิดโอกาสมากมาย รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของอุตสาหกรรมฟินเทค (Fintech)
ขณะที่ทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด เราจำเป็นต้องแน่ใจว่านวัตกรรมฟินเทคมุ่งช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมทั้งแก้ไขปัญหาสำคัญๆที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นภารกิจสำคัญ2-3 เรื่อง ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ที่มีจำนวนมากขึ้น และกระตุ้นการปรับใช้เทคโนโลยีในวงกว้าง
สิ่งสำคัญที่สุดคือหลังการแพร่ระบาด เราสามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมฟินเทคเพื่อ:
- ส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด
- ดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้นในการสร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่าน Green Finance ทั้งในระดับองค์กรธุรกิจและบุคคลทั่วไป
- เพิ่มความไว้วางใจต่อกัน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจภาคส่วนต่างๆ ในทุกประเทศทั่วโลก
ส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินสถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลให้มีการปรับใช้โซลูชั่นดิจิทัลกันอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง แม้กระทั่งในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ทั้งนี้เพราะความจำเป็นในการใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อเข้าถึงบริการธนาคารในช่วงการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด
ตัวอย่างเช่น ประเทศบังคลาเทศ ซึ่งในกลุ่มประชากรวัยผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท มีเพียง 50% เท่านั้นที่มีบัญชีธนาคาร ผู้ให้บริการด้านการเงินผ่านมือถือ bKash จึงได้นำเสนอบริการโอนเงินที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่สามารถโอนเงินผ่านระบบดิจิทัลไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทได้อย่างปลอดภัยและสอดรับกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม นอกจากนี้ bKash ยังร่วมมือกับรัฐบาลของบังคลาเทศในการส่งเงินช่วยเหลือเยียวยาผ่านระบบดิจิทัลไปให้แก่ประชาชนหลายล้านคนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ 400,000 คนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด
ในปี 2564 เราคาดว่าจะมีการบูรณาการมากขึ้นระหว่างระบบการเงินดิจิทัลและระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยธนาคารและสถาบันการเงินจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงการให้บริการจากรูปแบบออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์ เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปใช้ช่องทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ธนาคารกลางสิงคโปร์ออกใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจธนาคารดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแก่ผู้ประกอบการ 4 ราย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการออกใบอนุญาตดังกล่าวในประเทศสิงคโปร์ และนั่นหมายความว่าผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารจะสามารถจัดหาบริการที่เหมือนธนาคารได้เช่นกัน ทั้งนี้เป็นที่คาดการณ์ว่าธุรกิจดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำกว่า และจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
สร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในส่วนของผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจการเงินสีเขียว (Green Finance) เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพราะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยตอบสนองความต้องการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กับการดำเนินธุรกิจแนวทุนนิยม โดยฟินเทคจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมสีเขียวเพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน
ผลการศึกษาที่ดำเนินการร่วมกันโดยสถาบัน Paulson Institute และมหาวิทยาลัยชิงหวา ระบุว่า จีนมีบทบาทเป็นผู้นำในการทดสอบนวัตกรรมด้านการเงินสีเขียวที่ขับเคลื่อนด้วยฟินเทค รวมถึงโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่นำไปสู่การปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น โครงการ Ant Forest ที่เปิดตัวบนแอพอาลีเพย์ (Alipay) ให้รางวัลแก่ผู้ใช้ในรูปแบบของ "คะแนนสะสมพลังงานสีเขียว" (Green Energy Points) ในแต่ละครั้งที่ผู้ใช้ดำเนินการบางอย่างเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ขี่จักรยานไปทำงาน ลดการใช้กระดาษ และซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คะแนนสะสมดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการปลูกต้นไม้เสมือนจริงบนแอพของผู้ใช้ ขณะที่อาลีเพย์จะให้การสนับสนุนด้วยการปลูกต้นไม้จริงหรือการคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์ โดยร่วมมือกับองค์กรเอ็นจีโอในท้องถิ่น
เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิให้เท่ากับศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 นอกเหนือจากการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีสีเขียวอื่นๆ แล้ว บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการเงินสีเขียวอีกด้วย
เสริมสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือขณะที่บริษัทต่างๆ ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่รูปแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น การเสริมสร้างความไว้วางใจต่อกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างปลอดภัยได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ
เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่สามารถป้องกันการปลอมแปลง ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในสภาพแวดล้อมดิจิทัลมากขึ้น ในปี 2563 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกครองสัดส่วนราว 19.3% ของยอดใช้จ่ายในเทคโนโลยีบล็อกเชนทั่วโลก โดยมีการใช้งานหลักๆ ใน 3 ด้าน ได้แก่ การค้าระหว่างประเทศ บริการธุรกรรมระหว่างประเทศและการชำระเงินหลังการซื้อขาย และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
การลงทุนอย่างต่อเนื่องจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาต่อยอดสำหรับเทคโนโลยีบล็อกเชน และนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมฟินเทคที่รองรับความร่วมมือทางด้านดิจิทัลระหว่างภาคส่วนต่างๆ เช่น ธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทฟินเทค ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
เราได้เห็นการดำเนินการดังกล่าวบน Trusple ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริการทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AntChain ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากบล็อกเชน ก่อนนี้ธนาคารต้องใช้เวลามากในการตรวจสอบติดตามและยืนยันคำสั่งซื้อสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งยังต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลไม่ได้ถูกแก้ไขปลอมแปลง โดยกระบวนการดังกล่าวต้องใช้แรงงานคนและทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ธนาคารไม่สามารถเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ค้าระหว่างประเทศได้
ในทางกลับกัน แพลตฟอร์ม Trusple สร้าง Smart Contract หลังจากที่ผู้ซื้อและผู้ขายอัพโหลดคำสั่งซื้อไปยังแพลตฟอร์ม กระบวนการแบบอัตโนมัตินี้นอกจากจะช่วยให้ธนาคารลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และลดเวลาในการตรวจสอบติดตามคำสั่งซื้อในรูปแบบเดิมๆแล้ว ยังทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลที่รับส่งไม่ได้ถูกแก้ไขปลอมแปลง หลังจากที่หนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชียได้ทำธุรกรรมการเงินเพื่อการค้าบนแพลตฟอร์ม Trusple เป็นครั้งแรก เราจึงเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนมีศักยภาพที่ดีเยี่ยมในการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบการค้า
อุตสาหกรรมฟินเทคมีศักยภาพสูงมากในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อรูปแบบการทำงาน และการใช้ชีวิตของเรา ตั้งแต่การสร้างความน่าเชื่อถือด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ไปจนถึงการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการด้านการเงินผ่านระบบดิจิทัล ฟินเทคจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เราพบเห็นทุกที่ทั่วโลก และยังช่วยสร้างสรรค์อนาคตที่ดียิ่งขึ้นในหลายปีนับจากนี้
เกี่ยวกับ แอนท์ กรุ๊ปกลุ่มบริษัท แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างให้ผู้คนในโลกมีโอกาสที่เท่าเทียมก้น เทคโนโลยีของเราครอบคลุมทั้งบล็อกเชน, เอไอ, ซีเคียวริตี้, อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์, และคอมพิวติ้งที่เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพของเรา และคู่ค้าอีโคซิสเต็มส์เพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้ทำธุรกรรมกับธนาคาร ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือเข้าไม่ถึงการบริการผ่านธนาคาร (unbanked) และกลุ่มที่ลูกค้าที่มีบัญชีธนาคารแต่ยังนิยมใช้เงินสด (underbanked) ที่มีความปลอดภัย โปร่งใส คุ้มค่า รวมถึงการให้บริการทางการเงินที่ครอบคลุมแก่ผู้ใช้งานบุคคล และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วโลก
Ant Group มีความร่วมมือระหว่างประเทศกับคู่ค้าที่เป็น global strategic partners เพื่อให้บริการแก่ผู้คนในประเทศเหล่านั้น รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนในต่างประเทศด้วยการเชื่อมอาลีเพย์กับผู้ประกอบการออนไลน์และออฟไลน์ แบรนด์ภายใต้ แอนท์ กรุ๊ป ได้แก่ อาลีเพย์, Ant Fortune, MYbank, และ WorldFirst หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.antgroup.com หรือติดตามได้ที่ Twitter @AntGroup
เกี่ยวกับอาลีเพย์อาลีเพย์ (Alipay) เป็นแพลตฟอร์มการให้บริการดิจิทัลไลฟ์ชั้นนำของโลกโดยแอนท์ กรุ๊ป โดยในปี 2547 อาลีเพย์เปิดตัวการให้บริการรับฝากทรัพย์สินเพื่อแก้ปัญหาความไว้วางใจระหว่างผู้ซื้อออนไลน์ และผู้ขายในยุคที่อีคอมเมิร์ซบูมในประเทศจีน และในเดือนมิถุนายน 2562 อาลีเพย์ได้คิดค้นนวัตกรรมที่ให้บริการแก่ผู้ใช้อาลีเพย์มากกว่า 1,200 ล้านคนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับพาร์ทเนอร์ด้าน e-wallet ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
อาลีเพย์ได้พัฒนาจากเครื่องมือชำระเงินเป็น "แพลตฟอร์มการให้บริการดิจิทัลไลฟ์ชั้นนำที่ครบสมบูรณ์ในที่เดียว" ด้วยกลยุทธ์แพลตฟอร์มเปิด อาลีเพย์ช่วยให้ผู้ให้บริการจากเซกเมนต์ต่างๆ เช่น ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน บริการสาธารณะ และบริการทางการเงิน มอบประสบการณ์ชีวิตดิจิทัลอย่างครบวงจรให้กับผู้ใช้งาน ขณะเดียวกัน อาลีเพย์ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในกระบวนการทำงาน รวมถึงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในอุตสาหกรรมการบริการ
อาลีเพย์ยังแบ่งปันประสบการณ์เทคโนโลยีทางการเงินอย่างต่อเนื่องร่วมกับคู่ค้าต่างชาติเพื่อให้ผู้ใช้ทั่วโลกสามารถเข้าถึงการบริการทางการเงินที่ครอบคลุม อาลีเพย์ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินในต่างประเทศกว่า 250 แห่ง ในการสร้างช่องทางการชำระเงินออนไลน์สำหรับผู้ซื้อและผู้ขายมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก เมื่อนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศกว่า 56 ประเทศ พวกเขาสามารถใช้อาลีเพย์ชำระค่าบริการผ่านโทรศัพท์มือถือได้โดยตรง ปัจจุบันอาลีเพย์รองรับการทำธุรกรรมการเงิน 27 สกุล รวมถึงการขอคืนภาษีผ่านอาลีเพย์สามารถทำได้ใน 35 ประเทศ ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนก็สามารถใช้อาลีเพย์ในการชำระเงินภายในประเทศได้เช่นกัน สามารถติดตามเราได้ที่ Twitter @Alipay
ที่มา: พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง