การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมจัดงาน "พิธีเปิดและการสาธิตห้องทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ" ณ ศูนย์ปฏิบัติการและมาตรฐาน สฟอ. (นิคมอุตสาหกรรมบางปู) งานนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ผ่านการสนับสนุนทางด้านการเงินจากกองทุน RAC NAMA และเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรับทราบข้อมูลด้านมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องปรับอากาศฉบับใหม่ (มอก. 1529-2561) ในฐานะที่ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่สำคัญของโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเตรียมความพร้อมในการปรับตัวให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่กำลังจะประกาศใช้ อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตไปสู่การใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า "นอกเหนือจากพันธกิจหลักในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจยังมุ่งมั่นดำเนินการสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี การทำความเย็นที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้จัดการกองทุน RAC NAMA ด้วยเงินสนับสนุนจำนวน 8.3 ล้านยูโร (ประมาณ 300 ล้านบาท) กฟผ. ได้ดำเนินโครงการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทยสู่การใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวผ่านสารทำความเย็นธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน กฟผ. ยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปรับปรุงห้องทดสอบเครื่องปรับอากาศ เพื่อเตรียมความพร้อมของห้องทดสอบสำหรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่กำลังเข้าสู่ตลาดในอนาคต จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับสฟอ. ในครั้งนี้ โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดจากอุปกรณ์และระบบเดิมที่มีอยู่ให้ปลอดภัยต่อการปฏิบัติงานตามมาตรฐานไทยและสากล"
ดร. ฟิลิปป์ พิชเกอะ ผู้อำนวยการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวถึงบทบาทสำคัญของประเทศไทยในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของโลกว่า "ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่สำคัญของโลก ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่าร้อยละ 12 ในปัจจุบันการใช้พลังงานไฟฟ้าของอุปกรณ์ทำความเย็นและปรับอากาศคิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ โครงการ RAC NAMA จึงมีจุดประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยในระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและสารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันตลาดทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงการพัฒนากลยุทธ์เพื่อเปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ"
"ภายในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยวางแผนที่จะลงนามในพิธีสารมอนทรีออลฉบับแก้ไข (Kigali Amendment) เพื่อจำกัดการใช้ สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbons: HFCs) ที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (ค่า Global Warming Potentials: GWP) และค่าศักยภาพในการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (ค่า Ozone Depletion Potential: ODP) สูงและสนับสนุนการใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" ดร. ฟิลิปป์กล่าวเพิ่มเติม
นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "บทบาทของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นสู่นวัตกรรมสีเขียว" ว่า "ตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษ สฟอ. ได้เดินหน้าพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลและบนเวทีการค้าโลก ตลอดจนปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา งานในวันนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นและยุทธศาสตร์ขององค์กรในการมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการให้บริการและเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้มีการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ของไทย โดยเฉพาะให้รองรับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของเครื่องปรับอากาศฉบับใหม่ (มอก. 1529-2561) ซึ่งมีข้อบังคับครอบคลุมถึงสารทำความเย็นติดไฟได้ เราเชื่อมั่นว่ามาตรฐานฉบับใหม่นี้จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ การวิจัยและพัฒนา และทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียวได้อย่างยั่งยืนในอนาคต"
ที่มา: องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน