คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร ไฟเขียวดัน "ฟาร์มสุกร" เป็นมาตรฐานบังคับ

ศุกร์ ๐๙ เมษายน ๒๐๒๑ ๐๙:๐๓
คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร ไฟเขียวดัน "ฟาร์มสุกร" เป็นมาตรฐานบังคับ พร้อมออกแนวปฏิบัติใช้มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคอย่างถูกต้อง กำชับ มกอช. เร่งยกระดับมาตรฐานการผลิตจิ้งหรีด รับส่งออกตลาดเม็กซิโก วันนี้

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 2/2564 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบมาตรฐานสินค้าเกษตร ด้านปศุสัตว์ คือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร เป็นมาตรฐานบังคับ และเห็นชอบมาตรฐานสินค้าเกษตร ด้านประมง คือ แนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต การขอใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต และการขออนุญาตและการอนุญาตย้ายสถานที่ทำการที่ระบุไว้ในใบอนุญาตของผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน พร้อมแบบ มกษ. 14 แบบ มกษ. 15 และแบบ มกษ. 16 รวมทั้งได้เห็นชอบให้เลื่อนระยะเวลาปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตาม มกษ. 9035-2563 และร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 (ฉบับที่ 2)

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด เพราะต้นทุนการเลี้ยงต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเป็นอาหารแห่งอนาคตที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น โปรตีนสูง และตลาดแมลงกินได้ในอนาคตมีมูลค่าสูง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ไทยสามารถเปิดตลาดผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดเม็กซิโกอย่างเป็นทางการได้สำเร็จ โดยส่งออกจิ้งหรีดไปยังเม็กซิโกได้ 3 รายการ ได้แก่ ผงแป้งจิ้งหรีด (cricket flour) จิ้งหรีดที่ผ่านการทำให้สุก (cooked crickets) และจิ้งหรีดแช่แข็ง (frozen cricket) ดังนั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ไปดำเนินการส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานการผลิตทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูป ให้ได้มาตรฐาน GAP ฟาร์มจิ้งหรีด โรงงานแปรรูปก็ต้องปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Hygienic practice: GHP) ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด และสอดคล้องกับกฎระเบียบของเม็กซิโก นอกจากนี้สารของจิ้งหรีดนั้นสามารถนำมาเป็นส่วนผสมของกลุ่มธุรกิจเพื่อความงาม เครื่องสำอางต่างๆ จึงต้องเร่งวางมาตรฐานจิ้งหรีดเพื่อยกระดับและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน

ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาระสำคัญเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (มกษ. 6403) ที่ผ่านมา มกอช. ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตรดังกล่าว เป็นเพียงมาตรฐานทั่วไป แต่เนื่องจากการเลี้ยงสุกรได้รับความนิยมจากเกษตรกรไทย มีจำนวนผู้เลี้ยงสุกรมากกว่า 160,000 ราย ทั่วทุกภูมิภาค ทั้งที่เลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคหรือเพื่อการค้า และได้มีการจัดสัมมนาระดมความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเสนอคณะกรรมการวิชาการ (กว.) พิจารณา และได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้มาตรฐานฟาร์มสุกร เป็นมาตรฐานบังคับ โดยมีขอบข่ายการบังคับใช้เป็น 2 ระยะ ดังนี้ 1.สุกรขุน ตั้งแต่ 1,500 ตัว ขึ้นไป หรือ สุกรแม่พันธุ์ ตั้งแต่ 120 ตัวขึ้นไป ระยะเวลาปรับเปลี่ยน 90 วัน และ2.สุกรขุน ตั้งแต่ 500 - 1,499 ตัว หรือ สุกรแม่พันธุ์ ตั้งแต่ 95 - 119 ตัว ระยะเวลาปรับเปลี่ยน 180 วัน เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตตั้งแต่ระดับฟาร์ม สร้างความมั่นใจถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่สำคัญในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์สุกรของไทยอย่างยั่งยืน

ส่วนเรื่องแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ได้กำหนดขอบเขตการปฏิบัติเพื่อให้เป็นตามมาตรฐานกำหนด ได้แก่ สถานที่ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำต้องไม่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ห้ามเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น เขตอนุรักษ์ของป่าชายเลน และไม่ควรตั้งอยู่ในเขตที่อาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ เช่น เขตพื้นที่ชุ่มน้ำ การจัดการการเลี้ยง ต้องมีเอกสารแสดงแหล่งที่มาของลูกพันธุ์ การจัดการสุขภาพสัตว์น้ำ เฝ้าระวังและดูแลสุขภาพสัตว์น้ำที่เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ การใช้ยาสัตว์ สารเคมี และผลิตภัณฑ์จุลชีพ ดูแลสุขภาพสัตว์น้ำ ต้องใช้อย่างเหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดการสุขลักษณะภายในฟาร์ม ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและคำนึงถึงการเลี้ยงอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การจับและการปฏิบัติหลังการจับก่อนการขนส่งออกจากฟาร์ม ต้องดำเนินการอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการเสื่อมคุณภาพและการปนเปื้อนที่จะส่งผลต่อคุณภาพของผลิตผลและความปลอดภัยของผู้บริโภค

ที่มา: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕ พ.ย. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๕ พ.ย. คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๕ พ.ย. พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๕ พ.ย. BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๕ พ.ย. บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๕ พ.ย. PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๕ พ.ย. CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๕ พ.ย. ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ