นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงกรณีมีการให้ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ว่า หากลาป่วยไม่ถึง 3 วัน นายจ้างห้ามเรียกใบรับรองแพทย์ และบริษัทกำหนดให้ลูกจ้างที่ลาป่วย 1 หรือ 2 วัน ต้องนำใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อนายจ้าง ว่า ข้อมูลดังกล่าวบิดเบือนจากความเป็นจริงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา32 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ซึ่งการลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้นายจ้าง "อาจ" ให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือของสถานพยาบาลของทางราชการ ซึ่งกฎหมายมิได้มีบทบังคับว่าลูกจ้าง "ต้อง" แสดงใบรับรองแพทย์ทุกครั้งที่ลาป่วยเสมอไป เนื่องจากลูกจ้างบางรายอาจไม่ได้รักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล แต่อาจรักษาพยาบาลที่สถานีอนามัย หรือซื้อยามารับประทานเองก็ได้ จึงไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างสามารถชี้แจงให้นายจ้างทราบถึงการลาป่วยดังกล่าวได้ สำหรับกรณีที่บางบริษัทมีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้สิทธิลาป่วยต่างกัน เช่น ลาป่วย 1 หรือ 2 วัน ต้องใช้ใบรับรองแพทย์มาประกอบการลานั้น ประเด็นนี้ถือว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ได้ ส่วนสิทธิการรับค่าจ้างขณะลาป่วยนั้น มาตรา 57 วรรคแรก กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ในวันลาป่วยเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างในระหว่างวันลาป่วย 30 วันทำงานในรอบ 1 ปี
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หรือติดเชื้อ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อโรคโควิด - 19 จำเป็นต้องไปรับการตรวจรักษาหรือกักกันตัว ให้นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้าง ใช้สิทธิลาป่วย หรือใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายหรือตามที่ตกลงกัน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคที่อาจเกิดขึ้นกับกิจการของนายจ้าง นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้หยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) หรือให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามหลักสัญญาต่างตอบแทน (No Work No Pay) หรือให้หยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่ตกลงกับลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่หยุดงานก็ได้ กรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวสิทธิหน้าที่ และการปฏิบัติตามแนวทางนี้ให้ติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546
ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน