ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ได้รับความไว้วางใจจาก บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (บริษัทผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ ดำเนินธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ตามโครงการการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาช่วยแก้ปัญหาในธุรกิจกระบวนการผลิตไฟฟ้า โดยเน้นนำ วทน. ไปแก้ปัญหาการสั่นสะเทือนของ Tension Bar ใน Stacker - Reclaimer เพื่อป้องกันความเสียหายของ Tension Bar ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญในการลำเลียงถ่านหินเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งหาก Tension Bar เกิดความเสียหายก็จะมีผลต่อการผลิตไฟฟ้า
"...ผู้รับผิดชอบดำเนินการภารกิจดังกล่าวของ วว. คือ ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ โดยเฉพาะการตรวจสอบ การทดสอบ และการตรวจวัดการสั่นสะเทือน ที่เกิดขึ้นจริงของเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนาดใหญ่ พร้อมการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์เพื่อดูดซับหรือดูดกลืนการสั่นสะเทือนที่ถูกต้องตามหลักการทางวิศวกรรม นอกจากงานด้านการประเมินการสั่นสะเทือนแล้ว ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ วว. ยังมีความสามารถประเมินความเสียหายและอายุการใช้งานของวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรทางวิศวกรรมต่างๆ ตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมแกร่งให้กับธุรกิจของบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด และภาคอุตสาหกรรมรายอื่นๆ ที่สนใจให้ วว. ได้เข้าไปให้บริการในอนาคต โครงการให้บริการที่ปรึกษาวิศวกรรมของ วว. ในครั้งนี้จะเป็นโครงการที่สามารถสร้างโมเดลที่ดีในการนำองค์ความรู้ด้าน วทน. เข้าไปพัฒนาธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวต่อว่า วว. ร่วมงานกับบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด มาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน รวม 9 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการการสกัดสารสำคัญจากเถ้าลอยและเถ้าหนักถ่านหินในระดับนำร่องสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง 2.โครงการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการเพิ่มมูลค่าก๊าซปล่อยทิ้งจากโรงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ร่วมกับผลิตภัณฑ์พลอยได้ก๊าซไฮโดรเจนเพื่อผลิตเมทานอล 3.โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการเผาไหม้โดยใช้ถ่านหินร่วมกับเชื้อเพลิงชีวมวล 4. โครงการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการเพิ่มมูลค่าก๊าซปล่อยทิ้งจากโรงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินร่วมกับผลิตภัณฑ์พลอยได้ก๊าซไฮโดรเจนเพื่อผลิตเมทานอลเฟสสอง 5.โครงการการพัฒนาและถ่ายทอดการผลิตเจลจากสารสกัดเถ้าถ่านหินในระดับ Pilot scale 6.โครงการการผลิตสารดูดซับจากสารสกัดเถ้าถ่านหินในระดับ Pilot scale 7.โครงการเพิ่มมูลค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากก๊าซปล่อยทิ้งของโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหินร่วมกับแหล่งก๊าซไฮโดรเจนทางเลือกเพื่อผลิตเมทานอลระดับ 100 ลิตรต่อวัน เฟสสาม 8.โครงการการศึกษาการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิง ชีวมวล และประเมินความคุ้มค่าของการใช้งานร่วมกับถ่านหิน และ 9.โครงการระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการผลิตชีวมวลและผลิตภัณฑ์ร่วมมูลค่าสูง
"...โครงการต่างๆ ดังกล่าว เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ นำมาพัฒนาเป็นสารมูลค่าสูงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีอย่างยิ่งของบริษัท ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญ ทั้งนี้ นอกจาก บริษัทฯ จะพัฒนาโครงการให้ตอบสนองต่อธุรกิจของตนแล้ว ยังดำเนินการลดของเสียหรือของเหลือทิ้ง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยร่วมด้วย นับได้ว่า โครงการเหล่านี้ได้ตอบสนองต่อนโยบาย BCG (Bio - Circular - Green Economy) ของรัฐบาล ที่เป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทย.." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก วว. ติดต่อ ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 อีเมล [email protected]
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย