นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกชีทเม็ททัล จำกัด (มหาชน) หรือ BM เปิดเผย ถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อต่อยอดธุรกิจปี 2564 ว่า ในไตรมาส 2 บริษัทฯ ได้ฤกษ์เปิดตัว Mini EV Tuk-Tuk หรือมินิ ตุ๊ก ตุ๊ก ไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นพาหนะรับ-ส่งผู้โดยสารส่วนบุคคลตาม รีสอร์ท, โรงแรม, โรงพยาบาล, รถตุ๊กตุ๊กเพื่อขายอาหาร (Food Tuk-Tuk)และอื่นๆ หลังใช้เวลาในการศึกษาและพัฒนามากกว่า 5 ปี โดยระหว่างการศึกษาทดลอง และพัฒนาประสิทธิภาพ ได้นำ Mini EV Tuk-Tuk มาใช้เป็นพาหนะรับ-ส่งพนักงานบริษัท และขนสัมภาระต่างๆ ภายในโรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ของบริษัทฯ ได้รับความสนใจกลายเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เชิญบริษัทฯ นำรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าร่วมจัดแสดงโชว์ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ที่ไปร่วมงาน เช่นเดียวกับ คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมที่โรงงานอีกด้วย
พร้อมกันนี้ บริษัทฯได้จัดตั้งบริษัทลูกขึ้นในชื่อ "บีเอ็ม อินโนเทค อินดัสตรี้" (BMI) สำหรับทำระบบออโตเมชั่นโดยเฉพาะ เน้นในการรับออกแบบระบบการผลิตแบบสำเร็จรูปขนาดย่อม ให้กับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตให้แก่ลูกค้าได้เป็นอย่างมาก เช่น ทำระบบหุ่นยนต์เชื่อม พร้อมJig& Fixtureสำเร็จรูป ให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้ได้ทันที นอกจากนี้ บี เอ็ม ไอ ยังรองรับการพัฒนารถไฟฟ้า และรับจ้างผลิตรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
ในการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าของบริษัท จะเริ่มต้นดำเนินการผลิต " Mini EV Tuk-Tuk หรือ มินิ ตุ๊ก ตุ๊กไฟฟ้า" ก่อนเป็นอันดับแรก สมรรถนะของรถ จะอยู่ที่ประมาณ 1.2 -1.5 กิโลวัตต์ ซึ่งไม่ต้องจดทะเบียน แต่จะต้องซื้อ พ.ร.บ.เพื่อคุ้มครองบุคคลที่ 3 และ บริษัทฯ มองว่า Mini EV Tuk-Tuk คือโอกาสที่จะสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ก่อน เนื่องจากราคาไม่สูง ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 85,000 บาท/คัน ไลน์ผลิตจะเน้นคันต่อคัน ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต โดยบริษัทฯ จะออกแบบ และผลิตตัวถัง Mini EV Tuk-Tuk ทั้งหมด เพื่อลดต้นทุนลง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริษัทฯ ซึ่งจะมีเพียงมอเตอร์ และแบตเตอร์รี่เท่านั้น ที่ต้องสั่งซื้อ สำหรับลูกค้าเป้ากลุ่มเป้าหมายหลัก จะเป็นกลุ่ม โรงแรม, รีสอร์ท, โรงงาน, โรงพยาบาล,หมู่บ้านต่างๆ และ รถตุ๊กตุ๊กเพื่อขายอาหาร (Food Tuk-Tuk) เป็นต้น
"หากประชาชนทั่วไปสนใจอยากซื้อ มินิ ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ใช้งาน อาจไม่ต้องจดทะเบียน แต่จะต้องมี พ.ร.บ. ซึ่งบริษัทฯจะต้องหารือกับ กระทรวงอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสมอ. เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ เมื่อทางกระทรวง อุตสาหกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติให้จดทะเบียนบุคคลที่ 3 หรือ พ.ร.บ.ได้ บริษัทฯ เชื่อว่าโอกาสในการขยายตลาด มินิ ตุ๊กตุ๊ก ไฟฟ้า ก็จะมีมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายการผลิตเริ่มต้นที่ปีละประมาณ 300-400 คัน" นายธีรวัต กล่าว
ระหว่างที่รอการผลิตในเชิงพาณิชย์ บริษัทฯดำเนินการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าต้นแบบ ให้แก่บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด นำไปทดลองใช้เป็นรถไอศกรีมเคลื่อนที่ เพื่อสร้างอาชีพให้คนพิการ และถือเป็นผลงาน CSR เพื่อมอบสิ่งดีดีให้แก่สังคม ซึ่งรถไอศกรีมเคลื่อนที่นี้ ได้ทดลองวิ่งแล้วตามจังหวัดต่างๆในประเทศไทย และผลลัพธ์ค่อนข้างมีประสิทธิภาพอย่างที่คาดหวังไว้ นอกจากเป็นการสร้างอาชีพให้ผู้พิการแล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆอีกได้แก่ ช่วยลดมลพิษทางอากาศ, ลดฝุ่น PM2.5 , ลดคาร์บอนไดออกไซน์ รวมถึงเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรม ตุ๊กตุ๊กในเมืองไทย อีกด้วย
ในอนาคต บริษัทฯ มีเป้าหมายจะผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าส่วนบุคคล 2 รูปแบบ คือใช้บรรทุกส่วนบุคคล และ ใช้บรรทุกสิ่งของ ไม่เกิน 1 ตัน ขนาดกะทัดรัด ซึ่งกำลังมอเตอร์ของรถจะอยู่ที่ประมาณ4-5 กิโลวัตต์สามารถออกถนนทางหลวงได้ แต่ต้องจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน บริษัทฯ คาดว่าในอนาคตจะมีการผลิต รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการทดสอบ และพัฒนาประสิทธิภาพรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เพื่อให้ได้ในราคาที่จับต้องได้
สำหรับ รถ Mini EV Tuk-Tuk หรือ มินิ ตุ๊กตุ๊ก ไฟฟ้า คาดว่า จะสามารถเปิดตัวได้อย่างเป็นทางการ ประมาณไตรมาส 2 ของปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการอนุมัติ จากกรมขนส่งทางบก ถึงแม้จะยังไม่มีการเปิดตัวรถ Mini EV Tuk-Tuk อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีลูกค้าบางส่วนติดต่อจองซื้อเข้ามาแล้ว คาดว่าเมื่อถึงวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า พร้อมดันรายได้ของบริษัทฯ ในปี 64 โตตามเป้าที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน
ที่มา: เดอะ เวย์ คอมมิวนิเคชั่น