"ระดับดัชนี 1,600 จุด ถือเป็นระดับที่เราคำนวณได้จาก 2 โมเดลหลัก คือ 1) PE Model ที่อิงประมาณการ EPS ปีหน้าของ Consensus ล่าสุดที่ 95 บาท และระดับ Forward PE ที่ 16.8 เท่า และ 2) EYG Model ที่อิงระดับ Bond yield สหรัฐฯรุ่น 10 ปีปัจจุบันที่ 1.65% และค่าเฉลี่ย EYG 7 ปีย้อนหลังที่ 4.3%" นายณัฐชาต กล่าว
นอกจากนั้น นายณัฐชาต ยังกล่าวว่า การลงทุนในเดือน พ.ค.ทางทรีนีตี้คาดว่าจะไม่เกิดปรากฎการณ์ Sell in May เหมือนกับอดีต โดยมี 7 ปัจจัยสนับสนุนหลัก ดังนี้
- การปรับเพิ่มประมาณการกำไรของ บจ.ที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นภายหลังจากการทยอยประกาศ งบไตรมาส 1 ปี 2564 โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจภายนอก เช่น AUTO, AGRI, PETRO, CONMAT ทำให้ล่าสุด ประมาณการกำไร (EPS) ของ SET Index ในตลาดถูกปรับขึ้นมาอยู่ที่ 81.2 บาท และ 95.0 บาท สำหรับปีนี้และปีหน้าตามลำดับ ที่สำคัญหุ้นไทยยังเป็นตลาดที่ถูกปรับประมาณการขึ้นสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของเอเชียนับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.อีกด้วย
- สภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูงสะท้อนผ่านฐานเงินหรือ M2 บ่งชี้ว่า ในสภาวะการเกิดโรคระบาดปัจจุบันทำให้การจับใช้สอยในระบบเศรษฐกิจจริงมีน้อยลง แต่คนมีความต้องการที่จะเก็บออมมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งในนั้นได้ถูกโยกย้ายเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น สะท้อนผ่านการเข้ามามีส่วนร่วมของนักลงทุนทั่วไป รวมถึงการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นที่สูงขึ้น
- การขายหุ้นของนักลงทุนสถาบันในเดือนนี้น่าจะเบาบางลง เพราะหากดูในเดือน เม.ย.ที่ขายสุทธิ ไปกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท นั้น น่าจะทำให้สถานะเงินสดในพอร์ตของนักลงทุนกลุ่มนี้มีมากขึ้น ประกอบกับสภาพคล่องของนักลงทุนกลุ่มนี้ที่เตรียมจะสูงขึ้นอีก ภายหลังจากหุ้น TIDLOR เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น จนทำให้แรงกดดันต่อดัชนีในช่วงถัดไปจะเริ่มลดลง
- การถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 26.5% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค.ปีก่อน โดยถึงแม้เราจะไม่ได้คาดหวังว่านักลงทุนกลุ่มนี้จะกลับเข้ามาซื้อสุทธิ หุ้นไทยทันทีกว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ย.ปีก่อน แต่อย่างน้อยก็คาดหวังว่าจะไม่เกิดการขายสุทธิขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
- ความกังวลต่อปัจจัย Covid-19 ในประเทศที่น่าจะเริ่มบรรเทาลง หลังภาครัฐมีการยกระดับมาตรการคุมเข้มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งน่าจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมีขนาดลดลง ไม่นับรวมกับพัฒนาการเชิงบวกทางด้านวัคซีนที่เตรียมทยอยแจกจ่ายให้กับคนในประเทศมากขึ้น
- สภาพคล่องภายนอกยังคงเอ่อล้นในระดับสูงและมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญภายหลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพิ่มอัตราเร่งในการเข้าซื้อสินทรัพย์นับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนั้นเราไม่คิดว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้จะมีข่าวร้ายออกมาจากทางฝั่งของผู้กำหนดนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Operation twist หรือ QE Tapering ของ Fed เป็นต้น
- โอกาสที่ Bond yield สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นแบบก้าวกระโดดมีน้อยลงตามลำดับ หลังจากที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าแหล่งเงินทุนของแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและแผนพัฒนาสังคมนั้น จะมาจากการขึ้นภาษีต่างๆ ภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้แนวโน้มที่รัฐบาลสหรัฐฯจะต้องกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรขนานใหญ่ จึงมีความจำเป็นน้อยลงเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ Bond shock จนนำมาสู่การเทขายหุ้นแบบเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา จึงมีน้อยลงตามไปด้วย
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในเดือน พ.ค.คาดหุ้นในกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจภายนอกทั้งกลุ่มโภคภัณฑ์ และกลุ่มส่งออก มีโอกาสที่จะปรับตัวแข็งแกร่งกว่ากลุ่มที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายใน โดยทางทรีนีตี้ได้แบ่งธีมการลงทุนแนะนำออกเป็นทั้งหมด 5 กลุ่มดังนี้ 1.กลุ่มปิโตรเคมี เลือก IVL, PTTGC, SCC 2.กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมส่งออก เลือก AH, SAT, SMT 3.กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรส่งออก เลือก ASIAN, NRF, XO 4.กลุ่ม Logistics เลือก III, JWD, LEO, NYT, SONIC, WICE และ 5.กลุ่มที่คาดว่าจะถูกคัดเลือกเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบถัดไป ได้แก่ IRPC, STA, STGT
ที่มา: บล.ทรีนีตี้