ธนาคารกรุงเทพขานรับ ธปท. และกระทรวงการคลัง ในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ สู้โควิด-19 ด้วยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้

จันทร์ ๑๐ พฤษภาคม ๒๐๒๑ ๑๓:๒๑
ธนาคารกรุงเทพขานรับ ธปท. และกระทรวงการคลัง ในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ สู้โควิด-19 ด้วยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ย้ำจุดยืน 'เพื่อนคู่คิด' เคียงข้างลูกค้าทุกสถานการณ์

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีผลกระทบต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 และยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลต่อผู้ประกอบธุรกิจในวงกว้าง และประเมินว่าในบางธุรกิจอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงปกติ ธนาคารกรุงเทพจึงพร้อมขานรับมาตรการของ ธปท. และกระทรวงการคลัง ในการร่วมส่งมอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ผ่าน 2 มาตรการ

1.) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ สามารถประคับประคองและฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้ สำหรับทั้งลูกค้าปัจจุบันที่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับธนาคารไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งสามารถขอวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูได้สูงสุด 30% ของวงเงินเดิม สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท (นับรวมกับวงเงิน Soft Loan เดิมที่เคยได้รับตาม พ.ร.ก.) และลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด สามารถขอสินเชื่อได้สูงสุด 20 ล้านบาท โดยนับรวมวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน

ในช่วง 5 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี โดยช่วง 2 ปีแรก คิด 2% ต่อปี ทั้งยังได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรกจากการสนับสนุนของกระทรวงการคลัง ขณะเดียวกันธนาคารได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการขอสินเชื่อ เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการให้ก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบากในเวลานี้

นอกจากนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อทุกราย คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันไม่เกิน 1.75% ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้บางส่วน

2.) มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) เพื่อลดภาระทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ ซึ่งได้รับผลกระทบและต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว ด้วยการโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันชำระหนี้ให้กับธนาคาร ตามราคาที่ตกลงกัน โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อไปประกอบธุรกิจได้ตามอัตราค่าเช่าที่ตกลงกัน และให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจในการซื้อทรัพย์คืน ภายใน 3-5 ปี

นายสุวรรณ กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจให้มีสภาพคล่อง สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวม และช่วยพยุงการจ้างงานอีกเป็นจำนวนมาก

ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพได้ออกมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบแก่ลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และพร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งต่อมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐ ให้เข้าถึงลูกค้าและผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง ซึ่งยืนยันถึงจุดยืนของธนาคารกรุงเทพ ในการเป็น "เพื่อนคู่คิด" ที่พร้อมเคียงข้างลูกค้าตลอดเวลา แม้ในยามที่ยากลำบากก็จะก้าวข้ามสถานการณ์เหล่านั้นไปด้วยกัน

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของธนาคารกรุงเทพ สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ธุรกิจสัมพันธ์ หรือสาขา หรือสำนักธุรกิจของธนาคาร เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงติดตามข้อมูลอื่นที่น่าสนใจของธนาคาร ได้จากสื่อประชาสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพทุกช่องทาง ได้แก่ www.bangkokbank.com, Bangkok Bank Line Official หรือ โทร.1333 หรือ 0 2645 5555

ที่มา: ธนาคารกรุงเทพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๗ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จับมือ JAM ส่งอีเวนต์สุดปังตลอดปี 2568 ปลุกตลาดอนิเมะในไทย ประเดิมงานแรกนิทรรศการอนิเมะสุดยิ่งใหญ่ Muse Anime Festival 2025 ชมฟรี!! ชั้น 4 โซน
๑๖:๒๕ สองสถาบันประชุมเตรียมความพร้อม จัดงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ ครั้งที่ 75
๑๖:๒๙ ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น Masked Depression ภัยเงียบที่คุณอาจมองไม่เห็น
๑๖:๔๑ สภากาชาดไทย ร่วมกับ โรงพยาบาลรามคำแหง เชิญร่วมบริจาคโลหิต ครั้งที่ 52
๑๖:๑๙ กทพ. สร้างประวัติศาสตร์ใหม่! มหกรรมสุขเต็มสิบ ฉลองสะพานทศมราชัน ดึงผู้ร่วมงานกว่า 2 แสนคน พร้อมเตรียมพบกิจกรรมเดิน - วิ่งลอยฟ้า บนสะพานทศมราชัน 26 ม.ค.
๑๕:๑๒ วิทยาลัยดุสิตธานี จัดการแข่งขันภายใน โครงการ DTC X Unilever food solutions The Future Food Menu 2024 ร่วมกับ Unilever Food
๑๕:๒๑ ร้านอาหารจีน เฮยยิน ต้อนรับตรุษจีนปีมะเส็ง กับ 11 เมนูอะลาคาร์ตมงคล และ 3 เซตตรุษจีนมงคล
๑๕:๐๐ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ส่งความสุข และกำลังใจ มอบอั่งเปา ชุดของขวัญ และจัดเลี้ยงอาหารแก่คนชราไทย -จีน รวม 5 แห่ง เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ประจำปี
๑๕:๑๘ บางกอกทูเดย์จัดเสวนา 2568 สัญญาณอันตรายรัฐบาล ในสายตากูรูการเมือง
๑๔:๑๖ เจแปน ไพรซ์ ประกาศรายชื่อผู้ชนะรางวัลประจำปี 2568