นศ. ICT ม.มหิดล คิดค้น AI ชี้วัดสังคมออนไลน์ เพื่อผลักดันสู่นโยบายสุขภาวะทางจิต

อังคาร ๑๘ พฤษภาคม ๒๐๒๑ ๑๑:๔๘
วันที่ 28 พฤษภาคมของทุกปี กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นวันสุขบัญญัติแห่งชาติ ซึ่ง 1 ในสุขบัญญัติ 10 ประการ คือ การทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ

เมื่อเกิดวิกฤติเกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หรือวิกฤติใดๆ ในปัจจุบันเราจะสามารถรู้ได้ทันทีว่าผู้คนในสังคมมีความเครียด หรือวิตกกังวลมากเพียงใด ในทันทีที่ได้เข้าไปในสังคมออนไลน์ เพียงพิมพ์คำที่ต้องการลงในช่องค้นหา

ด้วยหลักการเดียวกันนี้ ทีมนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย "น้องเต้" นายกฤติน ชาตรีนันท์ "น้องนนต์" นายอนนต์ กังพานิช และ "น้องพู" นายธนวินท์ วิจิตร ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภวงศ์ ทั่วรอบ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้นำมาประยุกต์ใช้พัฒนาโปรแกรม "สิมิลัน (PSIMILAN) : ระบบประมวลผลและแสดงข้อมูลผลกระทบทางจิตวิทยาและสุขภาพจิตระดับประชากร โดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่" ซึ่งสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 23 (NSC 2021) หมวดโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Application) จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อเร็วๆ นี้

อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะฯ ได้มีนโยบายมุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาได้นำความรู้ทางด้าน ICT ที่เรียนมาไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งการใช้ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ สามารถใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ครอบคลุมสูงกว่าการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยทั่วไป โดยจะมีอัลกอริทึมแบบจำลองเชิงลึกที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงบางอย่างคล้ายสมองของมนุษย์ในการช่วยวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ตอบโจทย์สังคม หรือผลักดันสู่การวางแผนจัดทำนโยบาย (policy maker) ต่อไป โดยคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมมุ่งมั่นเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ และผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติต่อไป

"น้องเต้" นายกฤติน ชาตรีนันท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าทีมนักศึกษาผู้พัฒนาโปรแกรม "สิมิลัน" กล่าวว่า ชื่อของโปรแกรมมาจาก PSIMILAN ซึ่งเป็นตัวย่อของชื่อผลงาน "A data processing and visualization system for PSychological IMpact In mental health using LArge-scale social Networks" ในภาษาอังกฤษ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ AI เพื่อประมวลผลสื่อสังคมออนไลน์ภาษาไทยและแสดงข้อมูลผลกระทบทางจิตวิทยาและสุขภาพจิตระดับประชากรในประเทศไทย

สามารถใช้งานโดยการเพิ่มนโยบายที่ต้องการศึกษาเข้าไปในระบบ แล้วโปรแกรมจะประมวลผลด้วย BERT และ LaBERT ซึ่งเป็น AI ประเภทการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ที่ล้ำสมัยสำหรับประมวลผลภาษา โดยใช้ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ โดยโปรแกรมจะตรวจจับภาษาไทยซึ่งเป็นคำที่แสดงถึงภาวะซึมเศร้า หรือความคิดฆ่าตัวตาย อาทิ เครียด เศร้า หดหู่ อยากตาย ฯลฯ

จากนั้นโปรแกรม "สิมิลัน" จะแสดงผลออกมาเป็นกราฟแสดงความถี่ของข้อความที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับนโยบายสู่การวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงสุขภาวะทางจิต สรุปผลแยกแยะในเชิงลึก 4 ด้าน ได้แก่ อารมณ์ ภาวะซึมเศร้า ความรู้สึก และความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งสามารถดูได้ทั้งแบบรายวัน รายเดือน และรายปี นอกจากนี้ยังสามารถดูสรุปผลที่เป็นความรู้สึกในทางบวกและลบ ผ่านทางเว็บแอปพลิเคชันได้อีกด้วย

"น้องนนต์" นายอนนต์ กังพานิช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมในฐานะสมาชิกทีมนักศึกษาผู้พัฒนาโปรแกรม "สิมิลัน" ว่า ข้อดีของการใช้ระบบประมวลผลสุขภาวะทางจิตโดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ คือ สามารถดึงข้อมูลออกมาใช้ได้แบบเรียลไทม์ หรือในทันที แทนที่จะต้องรอการสรุปผลรายงานประจำปีอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยระบบสามารถแสดง trend หรือแนวโน้มความสนใจของผู้คนในช่วงเวลาต่างๆ ได้ตามจริง

ในขณะที่ "น้องพู" นายธนวินท์ วิจิตร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล อีกหนึ่งสมาชิกของทีมนักศึกษาผู้พัฒนาโปรแกรม "สิมิลัน" ได้กล่าวเพิ่มเติมถึง Target Users หรือ กลุ่มผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย นอกจากจะได้แก่ ผู้วางแผนจัดทำนโยบาย (policy makers) แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการรักษาสุขภาวะทางจิต และนักวิจัยทางการแพทย์ และสาธารณสุขโดยทั่วไปที่จะใช้เป็นแพลทฟอร์มต่อยอดเพื่อการทำนายพยากรณ์ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้ต่อไปอีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภวงศ์ ทั่วรอบ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และการวิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่เพื่อประโยชน์ด้านการแพทย์และสังคม กล่าวว่า ข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์นั้นถือเป็น Big Data ที่สามารถสกัดข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณประโยชน์ได้มาก แต่ยังมีการนำไปใช้งานน้อยในประเทศไทย โดยโปรแกรม "สิมิลัน" ที่ทีมนักศึกษาของคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาขึ้นนี้ อาจประยุกต์ใช้กับช่วงวิกฤติ COVID-19 เพื่อดูแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในระดับชุมชนได้อย่างเรียลไทม์ เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังต่อไปได้อีกด้วย ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาทีม "สิมิลัน" ผู้ทำหน้าที่ Inspire &Facilitate หรือสร้างแรงบันดาลใจ และสนับสนุนให้นักศึกษาได้สร้างสรรค์พัฒนาโปรแกรม AI เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสุขภาวะทางจิตของประชาชนนี้ รู้สึกภาคภูมิใจที่นักศึกษาได้ยึดผลประโยชน์ของสังคมไทยเป็นหลัก และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนชาวไทยได้อย่างสร้างสรรค์ต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๑ องค์การอนามัยโลกจับมือประเทศไทย และ 194 ประเทศ เร่งสร้างฉันทมติดันความเสมอภาคสุขภาพช่องปากเป็นวาระโลก
๑๖:๔๔ กรมอนามัยลงพื้นที่จังหวัดสงขลา มอบรางวัลเชิดชูเกียรติเมืองสุขภาพดีระดับประเทศ และรางวัลเครือข่ายเมืองสุขภาพดีระดับภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก
๑๖:๐๑ EPG มั่นใจยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นในครึ่งหลังของปีบัญชี 67/68 (ต.ค.67 - มี.ค.68) เติบโตดีตามเป้าหมาย เตรียมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 6 สตางค์ 9
๑๖:๒๔ 51Talk ส่งเด็กไทยเข้าร่วม COP29 การประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทพิสูจน์การสนับสนุนเยาวชนก้าวสู่เวทีระดับโลก
๑๖:๔๘ ORN เผยโค้งสุดท้ายปี 67 ฟอร์มดี โตต่อเนื่อง ลุยเปิด 3 โครงการใหม่บ้าน-คอนโดฯ มูลค่ารวม 3,070 ล้านบาท
๑๖:๓๓ Dog's Dream คอมมูนิตี้สนามสัตว์เลี้ยงสีเขียว ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
๑๖:๑๔ ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น ชูกลยุทธ์ Make a Leap to the New Stage ตอกย้ำพันธกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
๑๕:๔๓ กรุงศรี ขับเคลื่อนกลยุทธ์ GO ASEAN with krungsri ผสานความแข็งแกร่งและร่วมมือในเครือกรุงศรี MUFG และพันธมิตร
๑๕:๓๔ เผยสีสันแห่งการเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปี ผ่านกระเช้าของขวัญจากโรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ
๑๕:๔๗ Netflix ส่งหนังไทยคว้าชัยระดับโลก! ออกแบบ-ชุติมณฑน์ คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม บนเวที International Emmy Awards ครั้งที่ 52 จากผลงานเรื่อง HUNGER คนหิว