นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นำโดย นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางสาวญาดาภา หอมหวล พัฒนาการอำเภอสิรินธร นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ลงพื้นที่สนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." บ้านโชครังสรรค์ หมู่ที่ 13 ตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." งบเงินกู้รัฐบาล จำนวน 576,592,500 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ ทั้งสิ้น 3,960 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย แบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่ง และพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 171 แห่ง ในส่วนของอำเภอสิรินธร มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." งบเงินกู้ COVID ในพื้นที่ทั้งสิ้น 276 แปลง แยกเป็น HLM 275 แปลง (พื้นที่ 1 ไร่ 107 แปลง, พื้นที่ 3 ไร่ 168 แปลง ) และ CLM 1 แปลง (พื้นที่ 15 ไร่ 1 แปลง) และมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จำนวน 20 คน โดยได้รับงบประมาณโครงการฯ รวม 30,903,400 บาท และมีความคืบหน้าในการดำเนินการจัดทำสัญญา PO ในภาพรวมทุกกิจกรรมแล้ว 18,960,842 บาท คิดเป็นร้อยละ 61.36 (ข้อมูลวันที่ 17 พฤษภาคม 2564)
สำหรับการลงพื้นที่สนับสนุนโครงการฯ ในครั้งนี้ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะ ได้ติดตามการดำเนินกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา" ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ครัวเรือนต้นแบบ นางทิพย์เกษร พุ่มแก้ว บ้านโชครังสรรค์ หมู่ที่ 13 ตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร สัดส่วน 1:2 ตามแบบของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งได้มีการขุดปรับพื้นที่ตามสัญญาจ้างเรียบร้อยแล้ว 100 %
โอกาสนี้ นางทิพย์เกษร พุ่มแก้ว ได้กล่าวกับพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะฯ ว่า "ตนเองและครอบครัวมีความมุ่งมั่นที่จะทำ โคก หนอง นา ให้เป็นจริงเพราะเดิมได้ทำเกษตรพอเพียงอยู่แล้ว และรู้สึกดีใจมาก ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคกหนอง พช." ของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งครอบครัวของตนเองนั้น มีพื้นที่นาอยู่ 6 ไร่ และสมัครเข้าร่วมโครงการ 3 ไร่ ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับพื้นที่ขุดสระน้ำ คลองไส้ไก่ และคันนารอบพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการขยายผลทำโคก หนอง นา ให้เต็มพื้นที่ทั้ง 6 ไร่ โดยการออกแบบคลองไส้ไก่ให้กว้างขึ้น เพื่อจะได้พายเรือรดน้ำแปลงผักได้ ในส่วนของวัสดุและต้นไม้ ที่ได้รับจากงบประมาณเงินกู้รัฐบาล ผ่านทางกรมการพัฒนาชุมชนนั้น สมาชิกในครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการฯ ก็ได้มาช่วยกันเอามื้อสามัคคี และปลูกไม้ 5 ระดับ หมุนเวียนกันไป สิ่งสำคัญที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ คือ ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการ "โคก หนอง นา พช." นั้น ได้รวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการน้ำในนามกลุ่มผู้ใช้น้ำจากเขื่อนสิรินธร ที่พอจะบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำได้ แต่คาดหวังว่าในปีต่อ ๆ ไป ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา คงจะมีน้ำใช้ตลอดปีในการปลูกต้นไม้ ปลูกพืชผัก เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ที่ได้รับการอบรมจากโครงการฯ ในพื้นที่ของตนเองต่อไป"
นางทิพย์เกษร ยังได้กล่าวอีกว่า "ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน และรัฐบาล ที่ได้นำโครงการดี ๆ มาช่วยเหลือชาวบ้าน ถือเป็นการสานฝันของตนให้เป็นจริง ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นโดยการทำเกษตรผสมผสานตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ และทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อจากนี้ แปลงตัวอย่างของตนจะอุทิศให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบแก่คนในพื้นที่ เพื่อให้คนในชุมชนพึ่งตนเองและสามารถอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน"
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสิรินธร...ภาพข่าว/รายงาน
ที่มา: อิมเมจ โซลูชั่น