เยาวชนไทยเก่งคว้าชัย 6 รางวัลใหญ่จากเวทีแข่งโครงงานวิทย์ฯ ระดับโลก ISEF 2021

จันทร์ ๒๔ พฤษภาคม ๒๐๒๑ ๑๕:๐๓
เยาวชนไทยคว้า 6 รางวัลใหญ่ในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับโลก Regeneron International Science and Engineering Fair 2021 (ISEF 2021) โดยได้รับรางวัล Grand Awards จาก 4 สาขา ได้แก่ สาขาชีววิทยาเชิงคำนวณและชีวสารสนเทศศาสตร์ สาขาเคมี สาขาสัตวศาสตร์ และสาขาชีวการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ 2 รางวัล Special Award

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า "กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผนึกกำลังส่งตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับโลก Regeneron International Science and Engineering Fair 2021 (ISEF 2021) ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16 - 21 พฤษภาคม 2564 แบบออนไลน์ โดยปีนี้ส่งทีมเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 16 ทีม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้กว่า 2,000 คน จาก 64 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นเวทีแข่งขันสำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่จะสร้างศักยภาพเด็กไทยให้เป็นที่ประจักษ์สู่เวทีระดับโลก"

โดยผลปรากฏว่าปีนี้เยาวชนไทยสามารถคว้าชัยรางวัลใหญ่แกรนด์อวอร์ด (Grand award) มาได้ถึง 4 รางวัลด้วยกัน ได้แก่

รางวัลที่ 1 สาขาชีววิทยาเชิงคำนวณและชีวสารสนเทศศาสตร์ กับ "โครงงานการประยุกต์ใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อทำนายฤทธิ์ทางชีวภาพของลิแกนด์ในกระบวนการค้นหายามุ่งเป้าของโรคมะเร็งปอด สำหรับโมเลกุลเป้าหมาย EGFR" โดย นายณัฐกันต์ แสงนิล และนายภูริ วิรการินทร์ จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา นายบัณฑิต บุญยฤทธิ์ และนายธนศานต์ นิลสุ และได้รับทุนการศึกษาจำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงงานนี้ถูกพัฒนาจากที่ปัจจุบันโรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นในคนเอเชียโดยเฉพาะคนไทยซึ่งการวินิจฉัยและกระบวนการค้นหาและพัฒนายามุ่งเป้าของโรคมะเร็งปอดต้องใช้เวลาและต้นทุนค่อนข้างสูงและยังมีความเสี่ยงต่อข้อผิดพลาดในระหว่างการค้นหายาและประสิทธิภาพของตัวยาในระหว่างการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในแง่ของการรักษาให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ผู้พัฒนาสนใจพัฒนาโมเดลสำหรับการทำนายค่า pIC50 ของ ลิแกนด์ในกลุ่มตัวยับยั้งโปรตีนไคเนส (Kinase inhibitor) เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการค้นหาและพัฒนายามุ่งเป้าของโรคมะเร็งปอด โดยโมเดลดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาที่เกิดจากกระบวนการค้นหาและพัฒนายามุ่งเป้าของโรคมะเร็งปอดซึ่งถือเป็นการเพิ่มทางเลือกและลดความเสี่ยงในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด และยังสามารถนำโมเดลไปพัฒนาต่อยอดในการค้นหายารักษาโรคอื่นๆ ต่อไปได้อีกด้วย

รางวัลที่ 2 สาขาเคมี กับ "โครงงานการพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบไอออนโลหะหนักชนิดกระดาษ" โดยนายกิจการ นำสว่างรุ่งเรือง นายดวิษ บุญยกิจโณทัย และนายธิติ เถลิงบุญสิริ จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา ดร.สุรนันท์ อนันตชัยศิลป์ และได้รับทุนการศึกษาจำนวน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ โครงงานนี้คือการคิดค้นเครื่องมือตรวจสอบไอออนโลหะหนักชนิดกระดาษ โดยอาศัยหลักการการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนของเซนเซอร์สารอินทรีย์กับไอออนโลหะหนัก ทำให้สามารถเห็นสีของสารเชิงซ้อนได้ด้วยตาเปล่า เพื่อเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรและชาวสวน โดยอุปกรณ์ประกอบด้วยเซนเซอร์สารอินทรีย์ และเทมเพลตกระดาษซึ่งเป็นฐานบรรจุเซนเซอร์ที่ใช้ตรวจจับไอออนโลหะหนัก ช่วยให้เกษตรกรและชาวสวนสามารถใช้ชุดเครื่องมือได้จริงในพื้นที่ ใช้เวลาอันสั้นในการทดสอบและมีราคาถูก โครงงานนี้ มีแผนในการต่อยอดให้มีเซนเซอร์ตรวจสอบไอออนชนิดอื่นอีกได้ รวมทั้งยังอาจออกแบบปรับปรุงพื้นผิวกระดาษเพื่อให้สามารถวัดความเข้มข้นของไอออนโลหะหนักได้ละเอียดขึ้นอีกด้วย

รางวัลที่ 4 สาขาสัตวศาสตร์ กับ "โครงงานการพัฒนาการเพาะเลี้ยงด้วงเต่าต้นแบบสู่การควบคุมแมลงศัตรูพืช" (Development of lady beetle cultivation for pest control) โดย นางสาววรินยุพา งามเจริญวงศ์ ด.ญ.นัยน์ปพร กำหอม และด.ช.ธนกร ศิลาพันธุ์ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) จังหวัดขอนแก่น โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา นายอัครวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ และได้รับทุนการศึกษาจำนวน 500 ดอลลาร์สหรัฐ โครงงานนี้เป็นการศึกษาจากปัญหาของด้วงเต่าลายหยักที่พบในพื้นที่เกษตรกรรมท้องถิ่น และมีประโยชน์ในการห้ำ (การกิน) แมลงศัตรูพืชได้มากที่สุดในธรรมชาติมีจำนวนน้อยลง จึงเกิดแนวคิดในการศึกษาความเป็นไปได้ในการเพาะเลี้ยงด้วงเต่าลายหยักให้มีจำนวนมากขึ้นและปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ จากการศึกษาพบว่า เมื่อด้วงเต่าลายหยักอยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสม หลังวางไข่ตัวเมียจะกินไข่ตัวเอง และตัวอ่อนจะกินกันเอง ทำให้อัตราการรอดชีวิตเป็นตัวเต็มวัยต่ำ จึงได้ศึกษาวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการเพาะเลี้ยงในโรงเรือนโดยใช้วัสดุรองพื้นจากถาดไข่ ในสภาวะความโปร่งแสง อุณหภูมิ 25 ๐C ความชื้นสัมพัทธ์ 75% ทำให้ด้วงเต่ามีการวางไข่สูงขึ้น ศึกษาการล่อตัวเมียออกจากไข่โดยใช้ ฟีโรโมนเพศผู้ที่เตรียมจากสารละลายมูลด้วงตัวผู้ผสมรอยเท้าด้วงตัวผู้ และใช้เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูเป็นอาหารตัวอ่อน เพื่อป้องกันการกินกันเอง ทำให้การรอดชีวิตจากตัวอ่อนพัฒนาไปเป็นตัวเต็มวัยสูงขึ้น และเมื่อทดลองปล่อยด้วงเต่าลายหยักในแปลงนาข้าว มันสำปะหลังและถั่วลิสง พบว่าสามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชในกลุ่มเพลี้ยได้หลายชนิด ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช สามารถลดต้นทุนให้เกษตรกร และเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้บริโภคมากขึ้นได้

และรางวัลที่ 4 สาขาชีวการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ กับ "โครงงานนวัตกรรมชุดทดสอบเหงื่อสามฟังก์ชันเพื่อการวิเคราะห์ระดับไมโครของปริมาณแคลเซียม ฟอสเฟต และค่ากรดเบส สู่การประเมินภาวะเสี่ยงโรคกระดูกพรุน" โดยนายพัฒฒ์ พฤฒิวิลัย นายกฤษฏิ์ กสิกพันธุ์ และนายกรวีร์ ลีลาอดิศร จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ และได้รับทุนการศึกษาจำนวน 500 ดอลลาร์สหรัฐ โครงงานนี้ศึกษาภาวะกระดูกพรุนซึ่งนับเป็น "มฤตยูเงียบ" เนื่องจากภาวะกระดูกพรุนนั้นจะไม่มีอาการเตือนล่วงหน้ามาก่อน ผู้พัฒนาจึงมีความต้องการที่จะประดิษฐ์ "นวัตกรรมชุดทดสอบเหงื่อสามฟังก์ชันเพื่อการตรวจวัดแคลเซียม ฟอสเฟต และ pH สู่การบ่งชี้แนวโน้มภาวะเสี่ยงโรคกระดูกพรุน" ด้วยวิธีการ Self-Assessment แบบ Non-Invasive โดยนวัตกรรมแผ่นแปะชุดทดสอบเหงื่อสามฟังก์ชันนี้ จะทำงานโดยการวิเคราะห์ระดับไมโครของปริมาณแคลเซียม ฟอสเฟต และ ค่ากรดเบส แล้วนำผลไปสู่การประเมินภาวะเสี่ยงโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ โครงงานนี้ยังมีแผนงานต่อยอดที่จะพัฒนาแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเพื่อที่จะสามารถประมวลผลการทดสอบเชิงสีของปริมาณแคลเซียม ฟอสเฟต และ ค่ากรดเบส ได้อย่าง real-time/ simultaneous เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานชุดทดสอบมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โครงงานนี้ยังสามารถคว้ารางวัลสเปเชียล อวอร์ด (Special Award) in Life Sciences จาก Sigma Xi The Scientific Research Honor Society ในสาขา Life Sciences มาครองได้อีก 1 รางวัล

ด้าน รศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยในครั้งนี้ว่า "ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนที่ได้รับรางวัลทุกคน รวมทั้งเยาวชนทุกทีมที่ได้เข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งทุกคนมีความตั้งใจและความสามารถ ซึ่งถือว่าทุกคนได้ทำเต็มที่แล้ว ถึงแม้อาจจะพลาดรางวัลแต่ขอให้ทุกคนได้เก็บประสบการณ์และผลงานในครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของเราต่อไปในอนาคต"

นอกจากข้างต้นแล้ว เยาวชนไทยยังได้รับรางวัลสเปเชียลอวอร์ด (Special Award) อันดับที่ 3 จาก The American Chemical Society ผลงานสาขาเคมี ในหัวข้อ "รงควัตถุดัดแปรคลอโรฟิลล์จากสารสกัดของวัชพืชเพื่อเป็นสีย้อมไวแสงอินทรีย์สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสง : การศึกษาขั้นต้นในเชิงการดัดแปรโครงสร้าง" โดยนายสพล ไม้สนธิ์ , นายเสฏนันท์ ทรวงบูรณกุล และ นายศุภวิชญ์ พรหมโคตร จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา นางสาวประสงค์พร เรืองพีระศิริ และอาจารย์ที่ปรึกษาพิเศษ นายพัฒนนาวี นาเลาห์ และได้รับทุนการศึกษาจำนวน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา: องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๘ สรุปผลสำรวจปี 2567 สถาบันวิจัยฮาคูโฮโดเผย THAIDOM EFFECT มาแรง ช่วยเสริมสร้างความสุข ในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว
๑๗:๑๔ รพ.กรุงเทพ ฉลองความสำเร็จกับรางวัล GREAT PLACE TO WORK พร้อมเปิดตัว DR.HEALTH AVATAR ตัวแทนความสุขยกระดับสุขภาพ
๑๗:๐๙ รับสิทธิประโยชน์สูงสุดด้วยส่วนลด 20% เมื่อจองตรงที่โรงแรม สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๑๗:๐๔ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2566
๑๗:๓๘ ธนาคารไทยพาณิชย์ คว้า 5 รางวัลสำคัญด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในปี 2567 ตอกย้ำความเป็นผู้นำองค์กรยั่งยืน
๑๗:๐๓ ดั๊บเบิ้ล เอ มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อผู้ป่วยยากไร้
๑๗:๔๓ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนในถิ่นทุรกันดารภาคเหนือ - อีสาน อย่างยั่งยืนต่อเนื่อง
๑๖:๕๖ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สร้างปรากฏการณ์ Amazing Celebration 2025 A New Chapter of The Journey
๑๖:๑๓ ปักหมุด เตรียมเช็คอิน ร่วมส่งความสุขปีใหม่มอบให้เกษตรกร ปี 2568 กับกรมส่งเสริมการเกษตร
๑๖:๔๒ สคร.12 สงขลา ร่วมรณรงค์ ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ ย้ำ ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม ลดอุบัติเหตุ ลดเจ็บ ลดตาย ช่วงเทศกาลปีใหม่