ดร.สิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH และประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลประชาพัฒน์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีกลุ่มนักลงทุนประเภทสถาบัน 2-3 ราย ให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในหุ้น IMH โดยให้เหตุผลในการเข้ามาลงทุนดังกล่าวว่า เห็นศักยภาพของ IMH ในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์วิกฤตการระบาดโควิดในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และประกอบกับ IMH มีฐานลูกค้า Active ในมือมากกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการให้บริการในและนอกสถานที่ ส่งผลให้ IMH สามารถให้บริการทางการแพทย์ เช่น การตรวจเชื้อโควิด และ ฉีดวัคซีนฯ กระจายสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้อย่างรวดเร็วและ เป็นวงกว้าง กว่า โรงพยาบาลเชิงรับ
ทั้งนี้ ธุรกิจของ IMH จะมีนิวไฮ ตั้งแต่ไตรมาส 2/64 นี้เป็นต้นไป หลังจากที่ IMH ได้มีการปรับ กลยุทธ์โครงสร้างองค์กรเชิงรุกตั้งแต่ต้นปี64 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจโรงพยาบาล และศูนย์ให้บริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดธุรกิจโดยการเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลประชาพัฒน์ รวมถึงการดึงศัลยแพทย์ตกแต่งมือหนึ่งทางด้านทรวงอก เข้ามาเสริมทัพ พร้อมทั้งมีการเซ็นสัญญาพันธมิตรทางธุรกิจ กับ บริษัทแอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด (ABBOTT) เพื่อจำหน่ายชุดตรวจเชื้อโควิดแบบใหม่ "Antigen Swab" ซึ่งแผนการปรับกลยุทธ์ของ IMH ดังกล่าว ทำให้กลุ่มนักลงทุนสถาบัน เล็งเห็นศักยภาพการเติบโต ที่จะสะท้อนเชิงบวกให้กับ IMH ในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งจะเห็นได้จากศักยภาพในการรองรับการให้บริการตรวจเชิงรุก สำหรับการตรวจ COVID-19 ที่สามารถให้บริการได้ถึง 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาล อินเตอร์เมดฯ, โรงพยาบาลประชาพัฒน์ และ ศูนย์สุขภาพ IMH ASOKE (ชั้น 4 รพ.ผิวหนังอโศก)
ในขณะเดียวกัน ในส่วนของโรงพยาบาล ประชาพัฒน์ ซึ่งมีศักยภาพระดับโรงพยาบาลทุติยภูมิ ที่สามารถให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั่วไป - ผู้ป่วยตามโครงการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้ป่วยประกันสังคม ย่านพื้นที่ฝั่งธนบุรีได้รองรับได้ถึง 100 เตียง
ทั้งนี้จากการแผนการต่อยอดธุรกิจดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถทยอยเก็บเกี่ยวรายได้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 2/64 เป็นต้นไป โดยจากการประเมินรายได้ใหม่ ซึ่งรวมรายได้จาก โรงพยาบาลประชาพัฒน์ เข้ามาด้วย จะดันรายได้รวมของกลุ่ม IMH แตะระดับ 150 ล้านบาท ในไตรมาส 2/64 นี้ ทันที
และจาก Synergy & Transform ดังกล่าวในข้างต้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันเห็นถึงความมุ่งมั่นทางธุรกิจเพื่อสามารถขยายอาณาจักรการให้บริการที่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกพื้นที่ ทั้งในพื้นที่เขตเมืองและนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเปิดประเทศเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในอนาคต ดังนั้นบริษัทฯ จึงตั้งเป้าอัตราการเติบโต ในปี 64 รายได้รวมจะมีเติบโตแบบก้าวกระโดด แตะระดับ 600 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 247.75 ล้านบาท
ด้าน บล.หยวนต้า ประเมินภาพรวมผลการดำเนินงานของ IMH ในไตรมาส 2/64 ว่า จะกลับมาเติบโตโดดเด่น เนื่องจากจะเริ่มรวมงบของโรงพยาบาลประชาพัฒน์ เข้ามาและยังได้ผลบวกจากบริการตรวจ COVID-19 โดยยอดตรวจเดือน เม.ย เติบโตโดดเด่นจาก ไตรมาส 1/64 เฉลี่ยเพียง 100-200 คนต่อวัน เป็นมากกว่า 1,000 คนต่อวัน โดย IMH ตั้งเป้าจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการตรวจ COVID-19 ในไตรมาส 2/64 ประมาณ 50,000 คน ขณะที่เตียงรองรับผู้ป่วยซึ่งมี 100 เตียง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มในครึ่งปีหลัง จะยังโดดเด่นต่อเนื่อง เพราะจะเข้า High Season ของธุรกิจ ซึ่งจะมีรายได้ตรวจสุขภาพเข้ามามากขึ้น อีกทั้งอยู่ในช่วงดีลในการรับช่วงต่อฉีดวัคซีน COVID-19 จากภาครัฐและพันธมิตรภาคเอกชน และยังมีรายได้จากการตรวจภูมิในช่วงปลายปีสำหรับคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งทำให้รายได้ที่เกี่ยวกับ COVID-19 ยังเข้ามาต่อเนื่อง จึงปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 64 เป็นนิวไฮ 62 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนปีก่อนที่ 17 ล้านบาท เป็นผลบวกการให้บริการตรวจ COVID-19 ซึ่งทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ จึงให้ราคาเป้าหมายใหม่ 7.15 สะท้อนการปรับตัวของกำไรที่เพิ่มขึ้น
ที่มา: มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์