การกู้เงิน?ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 นี้ จะต้องนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ภายใต้แผนงานหรือโครงการตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนด ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่
(1) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข
(2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชน ในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 300,000 ล้านบาท
(3) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในกรณีจำเป็นคณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติปรับกรอบวงเงินภายใต้แผนงานหรือโครงการภายใน 3 วัตถุประสงค์นี้ได้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 1) วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 1 แล้ว จำนวน 287 โครงการ กรอบวงเงินกู้ 817,223 ล้านบาท และกระทรวงการคลังได้กู้เงินแล้ว จำนวน 703,841 ล้านบาท และได้มีการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 680,099 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83.22 ของวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2563 หดตัวที่ประมาณ - 6% ซึ่งต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ไว้ที่ - 8.1% และที่ IMF คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ - 8%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา สถานการณ์ COVID-19 ได้ทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีการติดเชื้อเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์การขยายตัว GDP ปี 2564 ของไทยไว้ที่ 1.5% - 2.5% รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ แต่แหล่งเงินงบประมาณที่สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหามีจำกัดและไม่เพียงพอ อีกทั้ง ถือเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงได้มีการตรา พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของ COVID-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กรอบวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอันเนื่องมาจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นวิกฤตของประเทศได้อย่างต่อเนื่องกับมาตรการที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกลับมาสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนภายหลังจากการระบาดของ COVID-19 บรรเทาหรือยุติลง
ทั้งนี้ กรอบวงเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 เป็นกรอบวงเงินที่เหมาะสมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยเหลือเยียวยา ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของของ COVID-19 ระลอกใหม่ได้อย่างต่อเนื่องกับ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 1 โดยคาดว่าการดำเนินโครงการหรือแผนงานภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 จะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2564-2565 สามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.5 จากกรณีฐาน ก่อนมีการตรา พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2"
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ที่ผ่านมาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้บริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบและระมัดระวังตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และภายใต้กรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) คงเหลือและเพียงพอเพื่อดำเนินนโยบายและแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ สำหรับการกู้เงินของรัฐบาลในวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 นั้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะบริหารจัดการอย่างรอบคอบโดยวางแผนและทยอยกู้เงินตามความจำเป็นและตามแผนการเบิกจ่ายจริง และไม่ได้กู้เงินทั้งจำนวน 500,000 ล้านบาท ในคราวเดียว โดยจะใช้เครื่องมือทางการเงินที่ผสมผสานทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ได้วงเงินกู้ที่ครบถ้วนภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแย่งสภาพคล่องจากภาคเอกชน และส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ
แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 1 เกือบครบ 1 ล้านล้านบาท และจะต้องกู้เพิ่มอีกประมาณ 500,000 ล้านบาท โดยจะมีการกู้ในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปีหน้า เพื่อใช้ดำเนินนโยบายการคลังเพิ่มเติมในการดูแลทุกภาคส่วนรวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ว่าจะอยู่ที่ 58.56% และจะยังคงดำเนินการบริหารหนี้สาธารณะด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากลยังมีมุมมองที่ดีต่อภาคการคลังที่แข็งแกร่งของประเทศไทย ซึ่งสะท้อน ความเชื่อมั่นของการดำเนินนโนบายทางการคลังของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา"
ที่มา: กระทรวงการคลัง