นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเสริมว่า ณ สิ้นเดือนเมษายน ๒๕๖๔ รัฐวิสาหกิจหลายแห่งสามารถเบิกจ่ายได้เป็นไปตามแผนหรือสูงกว่าแผน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ของ รฟม. โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) และโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต ของ รฟท. งานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาค และโครงการขยายระบบส่งไฟฟ้าระยะที่ 12 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายล่าช้า เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 - 2560) และโครงการทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม - ชุมพร ของ รฟท. โครงการแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 - 2564 ของการไฟฟ้านครหลวง และโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 1 ของ กฟภ.
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวสรุปว่า ในเดือนเมษายน 2564 รัฐวิสาหกิจทั้งหมดสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ดีและเป็นไปตามแผน ซึ่งปัจจุบันรัฐวิสาหกิจหลายแห่งอยู่ระหว่างการปรับแผนการเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อให้สะท้อนความสามารถการเบิกจ่ายที่แท้จริงและพิจารณานำโครงการ/แผนงานที่สามารถเบิกจ่ายได้มาทดแทนโครงการ/แผนงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สำหรับโครงการลงทุนที่เริ่มมีการเบิกจ่ายล่าช้า สคร. ได้เร่งหาสาเหตุและติดตามการแก้ไขปัญหากับรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมายและช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในเรื่องการลงทุนภาครัฐต่อไป
ที่มา: กระทรวงการคลัง