กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทยเพื่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ้าไทยและเผยแพร่ การประชาสัมพันธ์ผ้าไทยผ่านการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ซึ่งจังหวัดพัทลุงมีกลุ่มผ้าส่งเข้าประกวดหลากหลายกลุ่ม ซึ่งในวันนี้ ได้มีการติดตามกลุ่มฯ ดังต่อไปนี้
- กลุ่มทอผ้านิคมลานข่อย โดย นางอารีรัตน์ แสงเรืองโรจน์ ประธานกลุ่มทอผ้านิคมลานข่อย กล่าวถึงความประทับใจในการที่ได้รับลายผ้าพระราชทาน ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และได้คิดสร้างสรรค์ลายเพื่อประกวดนั้น นับเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มทอผ้าลานข่อยที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดสืบสานภูมิปัญญาในการทอผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดพัทลุง ที่ได้ร่วมกลุ่มกันของผู้คนที่มีใจรักในการทอผ้าเพื่อที่จะสร้างสรรค์ลวยลายผ้าพื้นถิ่นและสร้างเอกลักษณ์ของผ้าเพื่อที่จะอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลัง และยังสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น กลุ่มทอผ้า โดยสมาชิกในกลุ่มมีความตั่งใจและใส่ใจในการถักทอออกมาแต่ละผืนเพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีของสินค้า เพราะตัวเองมีความผูกพันกับผ้าทอลานข่อยมานานกว่า 19 ปี และจะสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้า ไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ
- กลุ่มสุปรีญาผ้าทอลานข่อย นางสุปรีญา เกิดวัน บอกถึงความภาคภูมิใจ ที่ได้รับลายผ้าพระราชทาน ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และอยากมีส่วนร่วมในการประกวด เพื่อที่จะพัฒนาลายผ้าของกลุ่มให้เป็นที่รู้จัก โดยกลุ่มผ้าทอลานข่อย ลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม คือลายระฆังทอง ที่ได้นำลวดลายและสีสันของผ้ามาจากดอกของต้นระฆังทองซึ่งมีลักษณะ ดอกห้อยลงเป็นระย้า มีกลีบดอกเป็นรูปถ้วย มีสีสันสวยงาม ที่มีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติของอำเภอป่าพะยอม ทางกลุ่มทอผ้าจึงนำลวดลายนี้มาทอเป็นลายผ้า ซึ่งลักษณะของลายผ้าจะนูนขึ้นเป็นลักษณะของกลีบดอกทั้ง 4 มุม คล้ายดอกระฆังทองตามลายผ้า มีสีขาว และแดงส้ม สร้างสรรค์สีที่สดใสดึงดูดความสนใจให้แก่ผู้ที่สนใจและพบเห็นอีกด้วย
- กลุ่มศิวะนาฏกนกไทย นายยุทธพล ซุ่นเซ่ง ประธานฯกลุ่มเล่าถึงนำผ้าลายขอพระราชทานเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ มาดัดแปลงกับลวดลายความเป็นเอกลักษณ์ ของเมืองพัทลุง โดยการนำลายผ้าขอพระราชทานฯ มาผสมผสานกับรูปแบบผ้าเก่าเมืองชัยบุรี เริ่มจากการพิมพ์ลายขอทับลงบนเนื้อผ้าในชั้นที่ 1 และพิมพ์ย้อมเก็บสี เพื่อนำมาทับด้วยลายดอกรวงผึ้ง ซึ่งเป็นลายโบราณของเมืองพัทลุง เพื่อให้เกิดลายผ้ามิติใหม่ของลวดลายทั้ง 2 บนเนื้อผ้า ซึ่งแรงบันดาลใจของกลุ่มศิวะนาฏ กนกไทย จะเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่จะนำผ้า ไทยพื้นถิ่นและลวดลายของความเป็นเอกลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่น เพื่อประชาสัมพันธ์ ให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาสวมใส่ชุดผ้าไทยให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ พัฒนาการจังหวัดพัทลุง ได้ให้คำแนะนำแก่กลุ่มผ้าทั้ง 3 กลุ่มในการออกแบบลายผ้า เพื่อพัฒนาให้มีความหลากหลายและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น คงความเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น สวยงาม ตามลักษณะผ้าถิ่นพัทลุง และสามารถสร้างรายได้ ให้กับสมาชิกกลุ่มต่อไป
ที่มา: อิมเมจ โซลูชั่น