นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช และคณะ ลงพื้นที่ศึกษาและตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนในพื้นที่อำเภอพรหมคีรี โดยมี นางสาวสุกรีฑา อรุณจิตต์ พัฒนาการอำเภอพรหมคีรี พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอพรหมคีรี นำลงพื้นที่เยี่ยมครัวเรือนของนางสาวกรองใจ ศรีธรรมศักดิ์ ณ บ้านดอนฆ้อ หมู่ที่ 2 ตำบลนาเรียง และครัวเรือนของนายบุญรุต แซ่ด่าน ณ บ้านกำแพงถม หมู่ที่ 5 ตำบลนาเรียง อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
โดยก่อนหน้านี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 347/2563 ลงวันที่ 30 ต.ค. 63 จัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ซึ่งต่อมา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธานคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอ (ศจพ.อ.) มีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการ และทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ มีปลัดอำเภอหรือหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอเป็นหัวหน้าทีม โดยมีทีมพี่เลี้ยง ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการ นักศึกษา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ในการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนเป้าหมายในพื้นที่ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลจากระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการรัฐ
นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้วางแผนลงพื้นที่ศึกษาและตรวจสอบข้อมูลให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ รวมทั้งแยกสถานะ ปรับปรุง จัดกลุ่มคนจนตามระบบ TPMAP และไม่อยู่ในระบบ TPMAP รายงานให้คณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดนครศรีธรรมราช (คจพ.จ.) เพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้แก่ครัวเรือนยากจนเป้าหมายในโอกาสต่อไป โดยได้กำหนดพื้นที่นำร่องในการดำเนินงาน โซนละ 1 อำเภอ ๆ ละ 1 ตำบล ดังนี้ 1) พื้นที่นำร่องโซนเขา พื้นที่นำร่อง ได้แก่ อำเภอช้างกลาง ตำบลสวนขัน ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย จำนวน 38 ครัวเรือน 2) พื้นที่นำร่องโซนป่า ได้แก่ อำเภอทุ่งสง ตำบลน้ำตก ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย จำนวน 3 ครัวเรือน 3) พื้นที่นำร่องโซนนา ได้แก่ อำเภอหัวไทร ตำบลแหลม ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย จำนวน 9 ครัวเรือน 4) พื้นที่นำร่องโซนเล ได้แก่ อำเภอพรหมคีรี ตำบลนาเรียง ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย จำนวน 17 ครัวเรือน มีครัวเรือนยากจนเป้าหมาย รวมทั้งสิ้น 67 ครัวเรือน จากจำนวนครัวเรือนยากจนเป้าหมาย จำนวน 25,933 ครัวเรือน
และจากการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี 2562 จำนวน 904,509 คน คนจนเป้าหมาย คือ คนจน (จปฐ.) ที่ไปลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 39,238 คน ซึ่งมีจำนวนคนจน จำแนกตามมิติของปัญหา 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ จำนวน 7,035 คน ด้านความเป็นอยู่ จำนวน 13,522 คน ด้านการศึกษา จำนวน 8,930 คน ด้านรายได้ จำนวน 17,436 คน และด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ จำนวน 60 คน
สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กลไกในการขับเคลื่อนงาน ดังนี้
- ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลประเด็นและช่องว่างของการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้องด้วยข้อมูลจาก TPMAP อย่างบูรณาการ
- ตรวจสอบแยกสถานะ และปรับปรุงข้อมูล โดยทีมปฏิบัติการลงพื้นที่เคาะประตูบ้านหรือปฏิบัติการ 4 ท เพื่อตรวจสอบข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย ค้นหาสาเหตุของปัญหาและความต้องการช่วยเหลือที่เหมาะสม รวมทั้งปรับปรุงข้อมูลให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ จัดกลุ่มคนจนตามระบบ TPMAP และไม่อยู่ในระบบ TPMAP (โดยให้ผ่านเวทีประชาคม)
- พิจารณาความจำเป็น/เร่งด่วน และเป้าหมายของการแก้ไขปัญหา รวมถึงประเด็นการพัฒนาให้สอดคล้องกับทรัพยากร และข้อจำกัดของพื้นที่ จากข้อมูลของ TPMAP ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มวิกฤติในพื้นที่ โดยทีมพี่เลี้ยงลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือหรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ
- บูรณาการความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน โดยบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการ/นโยบายการช่วยเหลือและการพัฒนาตามสภาพปัญหาของครัวเรือนภายใต้ภาคีเครือข่าย กลไกประชารัฐเพื่อความยั่งยืน พร้อมบันทึกการดำเนินการในระบบ TPMAP
- ติดตาม ประเมินและรายงานผลความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ผ่านระบบ TPMAP และเผยแพร่ผลการดำเนินงาน
ที่มา: อิมเมจ โซลูชั่น