ด้วยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทยเพื่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ้าไทยและเผยแพร่ การประชาสัมพันธ์ผ้าไทยผ่านการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ"
ในการนี้ พัฒนาการจังหวัดพัทลุง ได้ร่วมกลั่นกรองและเยี่ยมชมลายผ้าที่ส่งเข้าประกวดร่วมกับผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน เพื่อรวบรวมและจัดส่งผ้าเพื่อเข้าร่วมประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ระดับภาค ภาคใต้ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกำหนดประกวดในวันที่ 10-11 มิถุนายน 2564 ซึ่งรางวัลการประกวดแบ่งเป็น 3 ประเภทรางวัล ดังนี้
ประเภทที่ 1 The Best of Best รางวัลชนะเลิศรางวัลเดียวจากในแต่ละประเภท นำมาออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ และรางวัลเหรียญพระราชทานพร้อมสร้อยคอทองคำ
ประเภทที่ 2 The Best รางวัลที่ 1-3 ของ 15 ประเภท ได้รับรางวัลเหรียญพระราชทานทองคำ เงินและทองแดง ตามลำดับ
ประเภทที่ 3 ชมเชย Top 10 ของ 15 ประเภท ได้รับประกาศนียบัตร (Certificate)
โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย
- เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
- เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักผ่านการประกวดผ้าลายพระราชทาน
- เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไทยผ่านการเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย
สำหรับวันนี้ มีผู้ผลิตผู้ประกอบการกลุ่ม OTOP ส่งเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 9 กลุ่ม/ราย จำนวนผ้าทั้งหมด 18 ผืน ได้แก่
- กลุ่มทอผ้านิคมลานข่อย จำนวน 2 ผืน
- สุปรีญาผ้าทอลานข่อย จำนวน 2 ผืน
- คนังมัดย้อม จำนวน 1 ผืน
- สีพูบาติก จำนวน 2 ผืน
- กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ เขาชัยสน จำนวน 2 ผืน
- TAMOD BATIK จำนวน 1 ผืน
- ศิวะนาฎกนกไทย จำนวน 3 ผืน
- กลุ่มสตรีพัฒนาผ้าทอแพรกหา จำนวน 2 ผืน
- กลุ่มเสื้อบาติก ลำปำ จำนวน 1 ผืน
ทั้งนี้ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการผ้า มีความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจเป็นที่สุด ในลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มทอผ้านิคมลานข่อย เมื่อกลุ่มฯ นำลายพระราชทานมาออกแบบเพิ่มเติม ทำให้ผ้ามีมูลค่าเพิ่มจากเดิมถึง 3 เท่า สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป
ที่มา: อิมเมจ โซลูชั่น