ยูนิเซฟแนะไม่ควรแยกเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือเสี่ยงสูงจากครอบครัว

พุธ ๐๙ มิถุนายน ๒๐๒๑ ๑๕:๒๓
จากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ระลอกล่าสุดในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนเด็กที่ติดเชื้อมากกว่าทุกครั้ง องค์การยูนิเซฟและกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ออก แนวทางการดูแลเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงสูง เพื่อป้องกันการถูกแยกจากครอบครัว โดยเน้นย้ำว่า การแยกผู้ติดเชื้อหรือกักตัวผู้ใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูง ควรลดการแยกเด็กจากครอบครัวและส่งเสริมให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันมากที่สุด

แนวทางปฏิบัตินี้นำมาจากแนวปฎิบัติสากลของยูนิเซฟ เรื่อง "การกักหรือแยกตัวเด็ก: การคุ้มครองและป้องกันการแยกเด็กจากครอบครัวในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย โดยต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อเด็ก โดยมาตรการที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การกักตัวผู้มีความเสี่ยงสูง และการให้เข้ารักษาในสถานพยาบาล ทำให้เด็กมีโอกาสที่จะถูกแยกจากครอบครัว ซึ่งส่งผลเสียต่อความเป็นอยู่ของเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ

แนวปฏิบัติดังกล่าว ระบุว่า การตัดสินใจแยกเด็กที่ติดเชื้อหรือกักตัว ควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก โดยไม่ควรขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ควรประเมินแบบองค์รวมโดยคำนึงถึงผลกระทบอื่นที่อาจเกิดขึ้นจากการแยกเด็กออกจากครอบครัวด้วย เช่น ความเครียดของเด็กจากการต้องปรับตัว การต้องไปอยู่กับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ อาจเป็นญาติที่ไม่ได้สนิทนัก หรือการที่กิจวัตรต่างๆ ที่เด็กเคยทำอาจต้องเปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่เด็กจะเผชิญกับความรุนแรง การถูกทำร้าย การถูกละเลยทอดทิ้ง และการถูกแสวงประโยชน์ในระหว่างที่ต้องถูกแยกจากครอบครัว

ทั้งนี้ มาตรการแยกหรือกักตัวหรือการดูแลเด็กที่เฉพาะเจาะจงใด ๆ ควรพิจารณาเป็นรายกรณี โดยขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วย ความจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค และสภาพที่บ้าน รวมถึงการมีผู้ที่มีความเสี่ยงอยู่ในครัวเรือน

นางคิม คยองซัน ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า "ยูนิเซฟยินดีที่กรมกิจการเด็กและเยาวชนและกรมอนามัยเป็นผู้นำในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันมากที่สุด โดยได้ยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลักตามที่ระบุไว้ในแนวทางปฏิบัติของยูนิเซฟ มาตรการใด ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการติดเชื้อควบคู่ไปกับผลกระทบด้านอื่น ๆ เช่น สุขภาพจิตของเด็กด้วย การที่เด็กต้องอยู่ลำพังโดยไม่มีผู้ดูแลที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเกิดจากการที่เด็กติดเชื้อหรือพ่อแม่ผู้ดูแลติดเชื้อ จะส่งผลให้เด็กต้องถูกพรากจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นชิน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อจิตใจ และเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะถูกละเลยทอดทิ้งหรือเผชิญความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ไม่ควรมีเด็กคนใดควรถูกทิ้งไว้ตามลำพัง เราควรดำเนินการเพื่อให้เด็กได้อยู่กับครอบครัวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"

แนวปฏิบัติของยูนิเซฟ แนะนำว่า ในกรณีที่เด็กติดเชื้อ เมื่อเด็กต้องถูกแยกตัวหรือกักตัวหรือรับการรักษาในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม ควรอนุญาตให้ผู้ดูแลหรือสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่คนอื่นในครอบครัวที่เด็กคุ้นเคยไปอยู่กับเด็กด้วย ในกรณีที่จำเป็นต้องแยกเด็กจากครอบครัว ควรเลือกสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านเด็กมากที่สุด และต้องมีการจัดทำข้อมูลรายบุคคลของเด็ก ตลอดจนจัดให้มีการสื่อสารระหว่างเด็กและผู้ปกครองเป็นประจำทุกวัน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรติดต่อเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กก่อนแยกเด็กจากครอบครัว เพื่อให้การดูแลเด็กเป็นไปตามมาตรฐานการคุ้มครองเด็ก อีกทั้งควรมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลหรืออาสาสมัครอื่น ๆ เพื่อสามารถดูแลให้เด็กปลอดภัย ได้รับการคุ้มครอง และได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม

ส่วนในกรณีที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลหลักติดเชื้อและต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ควรจัดให้เด็กได้อยู่ภายใต้การดูแลของครอบครัวขยายหรือคนรู้จักของครอบครัวที่เชื่อถือได้ ซึ่งระบุตัวโดยผู้ดูแลหลักของเด็ก ทั้งนี้ก่อนแยกเด็กจากครอบครัว ต้องมีการจัดทำเอกสารรายละเอียดทั้งหมดของตัวเด็กและครอบครัว และจัดให้มีการติดต่อระหว่างกันเป็นประจำ ในกรณีเด็กถูกทิ้งไว้ลำพัง ผู้พบเห็นต้องแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เพื่อให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กเข้ามาประเมินความปลอดภัยด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็ก รวมทั้งเตรียมจัดการดูแลที่จำเป็น

นางคิม คยองซัน กล่าวต่อไปว่า "ยูนิเซฟพร้อมสนับสนุนผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กในการดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัตินี้ เราควรทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเห็นประโยชน์ของเด็กเป็นหลักควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขในการควบคุมการแพร่ระบาด"

ดาวน์โหลดแนวปฏิบัติเรื่อง "การกักหรือแยกตัวเด็ก: การคุ้มครองและป้องกันการแยกเด็กจากครอบครัวใน
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ภาษาไทย: https://uni.cf/3cr3IyO
ภาษาอังกฤษ: https://uni.cf/34XjH3l

ที่มา: องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO