นายสุรธันย์ ปาละพรพิสุทธิ์ ผู้ช่วยรองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการผลิตแบบลีน 4.0 และผู้แต่งหนังสือการผลิตแบบลีน 4.0 กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามกระแสโลกาภิวัตน์ และตลาดในวันนี้เป็นของลูกค้า คือ อำนาจในการตัดสินใจซื้อเป็นของลูกค้า เนื่องจากอุปทาน(จำนวนสินค้าที่นำออกเสนอขาย) มากกว่าอุปสงค์ (จำนวนซื้อ) ทำให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การผลิตแบบลีน 4.0 (Lean Manufacturing 4.0) เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในระดับเฉพาะบุคคลได้ (Mass Customization) โดยคำนึงถึง 4 ปัจจัยหลักพื้นฐาน ได้แก่ คุณภาพ ราคา การส่งมอบสินค้า ในปริมาณ และเวลาที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงการบริการก่อนการขาย ระหว่างการขาย และหลังการขาย
ผู้ช่วยรองคณบดี CITE อธิบายว่า การผลิตแบบลีน 4.0 คือ การผลิตที่เกิดความสูญเปล่า (Waste) ในกระบวนการน้อยที่สุด เกิดการไหลของวัตถุดิบ ชิ้นงานระหว่างกระบวนการ และสินค้าสำเร็จรูป รวมถึงข้อมูลอย่างต่อเนื่องภายในและภายนอกองค์กร ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการจะทำการผลิตแบบลีน 4.0 ต้องเริ่มจากพนักงานในองค์กรต้องมีแนวคิดแบบลีน 4.0 (Lean 4.0 Thinking) เสียก่อน เพราะแนวคิดแบบลีน 4.0 ถือเป็นหัวใจและพื้นฐานที่สำคัญสู่การผลิตแบบลีน 4.0 ต่อไป
สำหรับแนวคิดการผลิตแบบลีน 4.0 ในเรื่องการระบุประเภทของกิจกรรม โดยองค์กรสามารถแบ่งประเภทของกิจกรรมได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้ 1.) กิจกรรมที่สร้างคุณค่า (Value-Added Activities : VA) คือ กิจกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของวัตถุดิบ หรือกิจกรรมที่ทำเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น การตัดโลหะ การปั้มขึ้นรูปโลหะ การประกอบรถยนต์ เป็นต้น 2.) กิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่า (Non-Value Added Activities : NVA) คือ กิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าในมุมมองของลูกค้า ไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งลูกค้าภายในและลูกค้าภายนอก เช่น การรอคอยชิ้นงานระหว่างกระบวนการ การผลิตของเสีย การแก้ไขงาน เป็นต้น
"ในส่วนของกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่ายังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าแต่จำเป็นต้องทำ กิจกรรมประเภทนี้ไม่สามารถขจัดทิ้งได้ทั้งหมดแต่องค์กรควรลดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เช่น การตรวจสอบ การเคลื่อนย้ายชิ้นงานในกระบวนการผลิตและ ชนิดที่สองเป็น กิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าและไม่มีความจำเป็นต้องทำ เป็นกิจกรรมที่องค์กรควรพิจารณาขจัดทิ้ง เช่น การผลิตที่มากเกินความจำเป็น การผลิตชิ้นงานเสีย การเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่จำเป็น"
ผู้ช่วยรองคณบดี CITE กล่าวเพิ่มเติม ว่า กิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมที่เกิดความสูญเปล่าทั้ง 9 ประการ ประกอบด้วย การผลิตที่มากเกินความจำเป็น (Over Production) ของเสียและงานแก้ไข (Defects and Reworks) สินค้าคงคลัง (Inventory) กระบวนการผลิตที่ไม่จำเป็น (Excess Processing) การเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่จำเป็น (Motion) การขนย้าย (Transportation) การรอคอย (Waiting) ความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานไม่ถูกนำออกมาใช้ (Non-Utilized Employee) และความสูญเปล่าตัวใหม่ในอุตสาหกรรม 4.0 คือ การลองผิดลองถูก (Trial and Error) ทั้งนี้ องค์กรต้องระบุประเภทของกิจกรรมให้ได้และแก้ไขให้ตรงจุด พัฒนาสู่องค์กรการผลิตแบบลีน 4.0 จะสามารถฝ่าวิกฤตได้แน่นอน
ผู้ช่วยรองคณบดี CITE กล่าวในตอนท้ายว่า นี่เป็นเพียงบางส่วนของเนื้อหาการผลิตแบบลีน 4.0 ซึ่งมีอยู่ในการเรียนการสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี วิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ และหลักสูตรปริญญาโท-ปริญญาเอก การจัดการทางวิศวกรรม วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ปัจจุบันความต้องการแรงงานด้านการผลิตและโลจิสติกส์มีอัตราสูง โดยข้อมูลจากผลสำรวจจากกลุ่มลูกค้าของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เผย 10 อันดับสายงานที่ตลาดงานต้องการ อันดับ 1 สายงานขายและการตลาด 23.10% อันดับ 2 สายงานบัญชีและการเงิน 9.58% อันดับ 3 สายงานขนส่งและงานโลจิสติกส์ 9.50% อันดับ 4 สายงานวิศวกร 8.52% อันดับ 5 สายงานไอที 7.78% อันดับ 6 งานระยะสั้นต่างๆ 6.96% อันดับ 7 สายงานธุรการ 6.80% อันดับ 8 สายงานบริการลูกค้า 5.32% อันดับ 9 สายงานการผลิต 5.24% และอันดับ 10 สายงานบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 3.28%
สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของหลักสูตรเพิ่มเติมได้ ที่ https://cite.dpu.ac.th หรือ เบอร์โทรศัพท์ 02-954-7300 ต่อ 594, 498 หรือ 080-440-3821
ที่มา: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์