งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Bangkok Gems and Jewelry Fair หรือ BGJF เป็นเวทีการค้าอัญมณีและเครื่องประดับระดับสากลที่สำคัญติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มาอย่างต่อเนื่องถึง 65 ครั้ง เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ในปี 2563 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบสู่การจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับกระแสตอบรับอย่างดียิ่ง ในปี 2564 ภาวะการแพร่ระบาดยังคงกระจายเป็นวงกว้างในหลายประเทศ จึงเป็นที่มาของการจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริงขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการสร้างช่องทางและโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการเข้าถึงผู้ซื้อผู้นำเข้าจากทั่วโลก ในช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการและนักธุรกิจต่างประเทศ ไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้เหมือนปกติ
นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า "งานนี้ถือเป็นการสร้างช่องทางและโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการเข้าถึงผู้ซื้อผู้นำเข้าจากทั่วโลก และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถ 'ตั้งรับ ปรับตัว และหาโอกาส' ภายใต้วิกฤติที่เกิดขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบสู่การให้บริการด้านการตลาดเพื่อเร่งรัดการส่งออกในยุค New Normal อันเป็นหนึ่งใน 14 แผนงานสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์"
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับที่ 12 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้า อัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 2563 ขยายตัวลดลงร้อยละ 39.89 แต่ประเทศไทยก็ยังคงครองอันดับ 1 ประเทศผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินของโลก และครองอันดับ 3 ประเทศผู้ส่งออกพลอยสีของโลก รองจากสหรัฐฯ และฮ่องกง
โดยรองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้คาดการณ์การส่งออกปี 2564 อนาคตแจ่มใส "การส่งออกจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2564 จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดสำคัญของไทยที่เริ่มกลับมาเป็นบวก โดยนับตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา เศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้ยอดคำสั่งซื้อของไทยโดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นกลุ่มค้าออนไลน์อย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเติบโตเพิ่มขึ้น และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีมูลค่า 53,758 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.10 และคาดว่าการส่งออกตลอดปี 2564 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5"
นายนันทพงษ์ ได้กล่าวถึงงาน BGJF Virtual Trade Fair ในปีนี้ว่านักธุรกิจที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเสมือนจริงในครั้งนี้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมคาดการณ์มูลค่าการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มเสมือนจริงทะลุเป้าแน่นอน "การจัดงานครั้งนี้ กรมฯ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยจำลองบรรยากาศของงานแสดงสินค้าเสมือนอยู่ในงานจริง จัดแสดงสินค้าของผู้ประกอบการกว่า 600 บริษัท โดยมีบริการนัดหมายจับคู่เจรจาการค้าและจับคู่ธุรกิจแบบออนไลน์ล่วงหน้าโดยตรง หรือผ่านทูตพาณิชย์ทั่วโลก คาดว่างานครั้งนี้จะก่อให้เกิดการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ไม่น้อยกว่า 450 คู่ และตั้งเป้ามูลค่าการซื้อขายไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท และเพื่อเป็นการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด"
นอกจากกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าออนไลน์แล้ว แพลตฟอร์ม www.BGJF-VTF.com ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจในช่วงระหว่างการจัดงานด้วย อาทิ การจัดสัมมนาโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ กิจกรรมส่งเสริมการขายแบบ Live Streaming ฯลฯ รวมถึงข้อมูลแนวโน้มอัญมณีและเครื่องประดับที่น่าสนใจ
กิจกรรมที่น่าสนใจในช่วงที่ 2 ของการแถลงข่าวงาน BGJF Virtual Trade Fair ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นกิจกรรมเสวนาพิเศษในหัวข้อ "Jewelry Key Trends : แนวโน้มตลาดอัญมณีและเครื่องประดับหลังยุคโควิด" โดย นางนิศาบุษป์ วีรบุตร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับ นายศรัณญ อยู่คงดี นักออกแบบชื่อดังจากแบรนด์ SARRAN และดร.ฐิติพร สถาวรมณี ผู้อำนวยการศูนย์องค์ความรู้ด้านลักชัวรี่ (Luxellence Center) และปิดท้ายด้วยแฟชั่นโชว์เครื่องประดับโดยนายแบบ-นางแบบชื่อดัง อาทิ ติช่า-กันติชา ชุมมะ, จีน่า-วิรายา ภัทรโชคชัย, อติลา กานโยซ์ ภายใต้แนวคิด Journey Through The Gemniverse จักรวาลแห่งอัญมณีและเครื่องประดับของ BGJF
งาน BGJF Virtual Trade Fair (The 66th Special Edition) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2564 ผ่านทางเว็บไซต์ www.BGJF-VTF.com ผู้ซื้อที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมเจรจาการการค้าได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ที่มา: เค.ไอ.แซด.แซด