นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom : LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวว่า ลุมพินี วิสดอม เสนอแนะ 4 วิธีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้มีสุขภาวะที่ดีภายใต้เกณฑ์ของ WELL Building Standard หรือมาตรฐานการออกแบบอาคารที่คำนึงถึงสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัย ที่ออกแบบมาตรฐานโดย สถาบันอินเตอร์เนชั่นแนล เวลล์ บิลดิ้ง (International WELL Building Institute: IWBI) ในช่วงเวลาที่หลายคนต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน
"การปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามเกณฑ์ของ WELL คำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากยึดการออกแบบจากทิศทางของแสงและลมเป็นหลัก" นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ แนวทางการปรับปรุงที่พักอาศัยให้มีสุขภาวะที่ดีเหมาะกับการทำงานที่บ้าน ประกอบด้วย
- การเลือกมุมทำงานในพื้นที่ที่แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้าถึงได้ เพื่อลดการใช้แสงจากหลอดไฟ ถ้าในที่พักอาศัยมีแสงธรรมชาติไม่เพียงพอจำเป็นต้องใช้แสงไฟจากดองโคม ควรเลือกหลอดไฟที่มีความคล้ายคลึงกับแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดความสบายตาในการทำงาน และมีคุณภาพของสีที่ตรงกับความเป็นจริง และต้องทำการจัดตำแหน่งโคมไฟให้เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเงาและแสงสะท้อนบนหน้าจอเนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการปวดตา และส่งผลเสียต่อดวงตาในระยะยาวได้ คุณภาพแสงที่ดีจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพการนอนหลับให้ดีขึ้นได้อีกด้วย
- พื้นที่ทำงานควรมีอากาศที่ถ่ายเทได้อย่างสะดวก มีคุณภาพอากาศที่ดี ในห้องหรือในพื้นที่ทำงานภายในที่อยู่อาศัย ควรมีอากาศถ่ายเทไม่ควรเป็นพื้นที่ปิดที่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา เนื่องจากการทำงานในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทหรือต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา อาจจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจได้
- เลือกใช้อุปกรณ์สำนักงานที่ออกแบบตามหลักสรีระศาสตร์ (Ergonomic Design) การทำงานที่บ้านควรเลือกใช้โต๊ะและเก้าอี้ทำงานที่เป็นไปตามหลักสรีระศาสตร์ เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็น Office Syndrome จากการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง ในขณะเดียวกันควรปรับตำแหน่งอุปกรณ์สำนักงานให้สอดคล้องกับกระบวนการทำงาน อาทิ ตำแหน่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอคอมพิวเตอร์ควรสามารถปรับระดับได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานให้ขอบบนของหน้าจอควรอยู่ระดับสายตาพอดีหรือต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อย หากใช้คอมพิวเตอร์แบบ Labtop ก็ควรต่อจอมอนิเตอร์แยก และจัดให้มีชุดคีย์บอร์ด, เม้าส์ต่างหาก ผู้ใช้งานจะได้ไม่ต้องก้มลง หรือเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อใช้ Trackpad ที่ติดมากับตัวเครื่อง, ความสูงของโต๊ะทำงาน โต๊ะทำงานควรจะปรับระดับได้ตามสรีระของผู้ใช้งาน ทั้งการนั่ง หรือการยืนทำงาน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ทำงานขยับร่างกายมากขึ้น ไม่ต้องนั่งอยู่ในท่าเดียวกันเป็นเวลานาน, เก้าอี้ทำงาน เก้าอี้ที่ใช้ทำงานควรมีที่พิงหลัง ที่วางแขน สามารถปรับระดับความสูงได้ตามความเหมาะสม โดยให้ที่วางแขนอยู่ในระนาบเดียวกับขอบโต๊ะ เพื่อให้สามารถรองรับแขนและข้อมือได้ โดยไม่รู้สึกเมื่อยช่วงไหล่
- ดูสุขภาพกายแล้ว อย่าลืมดูแลสุขภาพใจด้วย ปัญหาที่หลายๆ คนพบในระหว่างการทำงานแบบ Work from Home คือ การที่ทำงานเพลินจนลืมเวลา และรู้สึกว่ามีพลังในการทำงานน้อยลง เนื่องจากสถานที่ที่ปกติแล้วใช้พักผ่อนหย่อนใจกลับโดนบุกรุกด้วยงานจากที่ทำงานจนเหมือนไม่มีพื้นที่ในการใช้ชีวิตส่วนตัวแบบที่เคย ดังนั้น การทำงานที่บ้านนอกจากการดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีที่ที่พักแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง "จิตใจ" เป็นอย่างมาก โดย WELL กำหนดเป็น 1 ใน 10 หัวข้อหลักที่ต้องปฏิบัติเมื่อยื่นขอรับรองอาคาร เน้นย้ำว่าชีวิตการทำงานที่ดีต้องมี Work Life Balance ไม่ก่อให้เกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้ที่ทำงานในสำนักงานแยกออกจากบริเวณที่ทำงานอย่างเป็นสัดส่วน ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานที่บ้านได้อย่างง่ายๆ โดยเลือกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในบ้านเป็นพื้นที่ทำงานโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เรื่องงานและเรื่องส่วนตัวใช้พื้นที่ทับซ้อนกัน และควรมีเวลาพักผ่อนเป็นเวลา 30 นาที ในช่วงกลางวัน เพื่อเป็นการรีเฟรชสมองให้ปลอดโปร่ง ไม่จมอยู่กับความเครียดของการทำงานจนมากเกินไป
"ในห้วงเวลาที่หลายคนต้องทำงานที่บ้าน การปรับปรุงที่พักอาศัยให้เหมาะสมกับการทำงานและสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน เป็นสิ่งจำเป็น การนำมาตรฐาน WELL เข้ามาใช้ในการปรับปรุงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากแต่เน้นการปรับพื้นที่โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นหลัก เมื่อปรับปรุงพื้นที่ได้เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ในการทำงาน พักผ่อน ให้การอยู่อาศัยมีสุขภาวะที่ดีในภาวะที่ COVID-19 แพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน" นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
ที่มา: แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์