"กองทุนบัวหลวงคาดว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะสะท้อนไปยังตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีเป็นต้นไป เนื่องจากมีมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามอัตราการแพร่ระบาดในพื้นที่ จากนั้นเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวช่วงท้ายปี โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังเป็น Laggard คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาคตามหลังเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จึงมีความน่าสนใจในการลงทุนรับ Theme การเปิดประเทศ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้" น.ส. มิ่งขวัญ กล่าว
ในส่วนของมุมมองต่อนโยบายการคลัง กองทุนบัวหลวงมองว่า พรก.กู้เงินฉบับใหม่ของรัฐบาลจะส่งผลบวก ต่อเศรษฐกิจราว 1.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักประคองเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม แผนการกู้เงินนี้อาจส่งผลกระทบทำให้หนี้สาธารณะคงค้าง อาจขยับขึ้นไปใกล้เพดานหนี้การคลัง ซึ่งอยู่ที่ 60% ของ GDP ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2021 และอาจทะลุเพดานหนี้ทางการคลังในปีงบประมาณถัดไป
นอกจากนี้ ปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลในระยะต่อไปอาจมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยประเมินว่า ในปีงบประมาณ 2022 จะมีความต้องการระดมทุนจากการออกพันธบัตรรัฐบาลราว 500,000-700,000 ล้านบาท นักลงทุนจึงอาจเห็น แรงกระทบจากฝั่งอุปทานในตลาดตราสารหนี้ไทยได้ในปีงบประมาณ 2022 นี้
ส่วนนโยบายการเงิน จากการประชุมครั้งล่าสุดในเดือน พ.ค. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% พร้อมกับย้ำว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกับการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศและการให้ความช่วยเหลือเชิงนโยบายที่ตรงจุดแก่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรการทางการคลังในการประคองเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้กองทุนบัวหลวง คาดการณ์ว่า กนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ย ในระดับปัจจุบันที่ 0.5% มีความเหมาะสมแล้ว
ขณะที่ ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ประกอบด้วย 1) การจัดหาและกระจายวัคซีน รวมถึงประสิทธิผลของวัคซีนที่จะส่งผลต่อระยะเวลาที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2) การฟื้นตัวที่แตกต่างกันและไม่ทั่วถึงมากขึ้น จากการระบาดระลอกใหม่ส่งผลให้ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้นจากแรงงานบางส่วนที่ว่างงานนานขึ้น ซึ่งจะกระทบศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง (Scarring Effects) 3) ฐานะการเงินที่เปราะบางเพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และธุรกิจท่องเที่ยวที่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามรายได้ที่ลดลง อีกทั้งบางธุรกิจที่ฐานะการเงินเปราะบางอยู่ก่อนแล้วและ ถูกซ้ำเติมจากการระบาดระลอกใหม่อาจมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ และ 4) ความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ
น.ส. มิ่งขวัญ กล่าวถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกว่า ท่ามกลางความท้าทายทั้งหลาย เศรษฐกิจทั่วโลกยังสามารถเติบโตได้จากปีก่อน เนื่องจากผู้คนมีการปรับตัวในการดำเนินชีวิตและจับจ่ายใช้สอย แม้จะออกจากบ้านลดลง แต่การใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐฯ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนบัวหลวง คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 5.8% เป็นผลจากการเติบโตในระดับสูงของสหรัฐฯ ที่ 6.0%
สำหรับ เศรษฐกิจพัฒนาแล้วอื่นๆ อย่างยูโรโซน และญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มขยายตัวที่ 4.3% และ 2.4% ตามลำดับ ด้านเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวขึ้นมา กองทุนบัวหลวงคาดว่าจะเติบโตได้ 8.0% ในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ขณะที่อินเดีย ซึ่งกำลังเผชิญการแพร่ระบาดอีกระลอก เศรษฐกิจน่าจะเติบโต 8.5%
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามบทความ BF Economic Review - ครึ่งปีหลังปี 2021 ฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ของกองทุนบัวหลวง หรือตามลิงค์ที่แนบมานี้ https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/economic-insights/bf-economic-review-2021-H2
ที่มา: หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง