นายอนุทิน กล่าวว่า ช่อดอกกัญชาที่ตัดเป็นช่อดอกกัญชาพันธุ์ไทยที่ปลูกโดยสถาบันวิจัยสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้ขออนุญาตการปลูกกัญชาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นกัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ คือ หางกระรอกภูพานเอสที 1 หางเสือสกลนครทีที 1 ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1 และตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1 เพื่อการศึกษาวิจัยและใช้เป็นต้นแบบ โดยปลูกในโรงเรือนแบบ Greenhouse มีระบบการจัดการปลูกพืชในวัสดุทดแทนดิน (substrate culture) มีการให้น้ำและธาตุอาหารโดยใช้ระบบน้ำหยด ซึ่งการพัฒนากัญชาพันธุ์ไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะนำพันธุ์ที่ได้ไปขยายให้กับเครือข่ายที่ทำการวิจัยร่วมกันได้แก่ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ม.เกษตรศาสตร์ สกลนคร เพื่อเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกร เพราะแต่ละพันธุ์ มีสาร THC และCBD ที่แตกต่างกัน ทำให้เกษตรกรสามารถเลือกพันธุ์ที่จะนำไปใช้ต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ สามารถพัฒนาส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการพัฒนากัญชา พันธุ์ไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก ลดการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนของกัญชาพันธุ์ไทยทั้ง 4 พันธุ์กับทางกรมวิชาการเกษตร โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2564 นี้
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการศึกษาวิจัยกัญชาพันธุ์ไทยที่ครอบคลุมทั้งลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (phenotype) ทางด้านเคมี (chemical profile) และข้อมูลของสารพันธุกรรม (genetic profile) พบว่า กัญชาพันธุ์ไทยมีลักษณะเด่นถึง 3 แบบ
แบบที่ 1 กัญชาที่ให้สาร THC สูง ได้แก่ กัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1 และกัญชาพันธุ์ตะนาวศรี ก้านขาวดับเบิลยูเอ 1
แบบที่ 2 กัญชาที่ให้สาร THC และ CBD (THC : CBD = 1 : 1) ในสัดส่วนที่เท่ากัน หรือกัญชา ได้แก่ กัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1
แบบที่ 3 กัญชาที่ให้สาร CBD สูง ได้แก่ กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1
"กัญชาไทยแต่ละพันธุ์มีลักษณะของต้น ใบ ช่อดอก และกลิ่นมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้จากการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของพันธุ์กัญชาแต่ละพันธุ์พบว่ากัญชาไทยทั้ง 4 พันธุ์เป็นพันธุ์ที่พบได้เฉพาะถิ่นเท่านั้นไม่ได้พบได้ทั่วไป เป็นพันธุ์ที่หายาก ซึ่งกัญชาแต่ละพันธุ์ของไทยมีสารสำคัญในสัดส่วนที่ต่างกันจึงมีประโยชน์ต่อการบ่งใช้ในการรักษาโรคที่ต่างกัน รวมถึงการได้สาระสำคัญคงที่ในการปลูก ทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป ทั้งนี้การวิจัยยังได้มีการสกัดส่วนรากกัญชานำไปศึกษา พบว่าอาจมีผลในการช่วยรักษาเนื้อเยื่อของปอด ซึ่งตรงกับสถานการณ์ในช่วงนี้ คือ ผู้ที่ป่วยโควิด-19 แม้จะหายแล้วแต่เนื้อเยื่อปอดก็ถูกทำลายไป ดังนั้นหากสามารถพัฒนาวิจัยศึกษาได้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก" นายแพทย์ศุภกิจกล่าว
ที่มา: บริษัท โฟร์พีแอดส์ (96) จำกัด