รองศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมีบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีศักยภาพจำนวนมาก ประกอบกับนโยบายของกระทรวงอุดมศึกษา เทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งเน้นการบริการชุมชน ควบคู่กับการจัดการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัย ในกรณีนี้ มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจนวดไทยในจังหวัดนราธิวาส อันเนื่องมาจากพนักงานนวดไทยบางส่วนที่ประกอบอาชีพให้บริการนวดไทยในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยเฉพาะ อ.สุไหงโก-ลก และ อ.เมืองนราธิวาส มิได้ผ่านการอบรมหลักสูตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพครบถ้วน ตามเงื่อนไขที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกำหนด ส่งผลให้ไม่มีวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตร ที่จะสามารถนำไปยื่นประกอบการขออนุญาตต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็น "ผู้ให้บริการ" ในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านนวด) ดังนั้น มหาวิทยาลัย จึงได้ตกลงในหลักการที่จะให้การสนับสนุนบุคลากรของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นวิทยากร ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส
นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส ได้ลงพื้นที่ประสานเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวร่วมกับนายนิวัตย์ จิรวิชญ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส ได้รับทราบความต้องการการพัฒนาทักษะฝีมือของบุคลากรนวดไทยในธุรกิจการให้บริการด้านนวดไทยเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะใน อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งมีจุดผ่านแดนถาวรหลักที่เชื่อมต่อกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ นอกจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส จะดำเนินการฝึกหลักสูตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพทั้งสี่หลักสูตรดังกล่าวแล้ว ผู้ที่ผ่านการฝึกจะได้รับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขา พนักงานนวดไทย ระดับ 1 ซึ่งผู้ผ่านจะได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ในอัตราวันละ 485 บาท สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดนราธิวาสที่กำหนดไว้เพียง 313 บาท เท่านั้น อีกด้วย
ที่มา: สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส