นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้เข้าร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ (EEC) ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง โดยการดำเนินโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ ระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บัณฑิตอาสาเป็นกลไกในการสำรวจผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและการพัฒนาพื้นที่ชุมชน รวมถึงสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน/ท้องถิ่นให้แก่บัณฑิตที่ว่างงานตามนโยบายของรัฐบาล และยังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของบัณฑิตจบใหม่ที่ว่างงานให้มีการพัฒนาตนเองและยกระดับการศึกษาให้สูงขึ้น ให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองในการพัฒนาถิ่นกำเนิด เป็นกลไกสำคัญหรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า เป็นโซ่ข้อกลางที่จะช่วยสื่อสารสร้างการรับรู้นโยบายการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไปสู่ประชาชนในระดับพื้นที่ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่และจัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนาให้ สกพอ. หรือ EEC ได้นำไปใช้ประกอบการกำหนดแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการทำงานแบบปัญญาชน คือให้มีทั้งกระบวนการกลุ่ม กระบวนการการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน ภาคีเครือข่ายที่เป็นทั้งภาคราชการและภาคประชาชน ซึ่งรวมถึงในการประชุมวันนี้ เป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่า ทางมหาวิทยาลัยบูรพาได้มีโอกาสในการพัฒนาให้เป็นประโยชน์กับองค์กร แล้วก็เป็นประโยชน์กับส่วนรวมด้วย ซึ่งตรงกับที่กรมการพัฒนาชุมชนมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565 โดยมีภารกิจในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมเพื่อให้ชุมชนใช้พลังชุมชน เพื่อการพัฒนาชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และการที่ได้รับโอกาสดีจาก EEC หรือ สกพอ. และมหาวิทยาลัยบูรพาในครั้งนี้ จะช่วยเติมเต็มให้กรมการพัฒนาชุมชน มีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีแนวทางในการขับเคลื่อนงานที่ดียิ่งขึ้นกว่าที่ทำโดยลำพัง ซึ่งหวังว่าข้าราชการของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ พัฒนากร เป็นคนที่จะต้องอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนเป็นหน่วยหน้าของกรมฯ ของรัฐบาล ในการที่จะไปรับทราบปัญหาและร่วมมือในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา และที่สำคัญที่สุด คือพยายายามขับเคลื่อนนโยบายที่รัฐบาลเห็นชอบว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะ Change for good ให้กับชุมชนให้บังเกิดความสำเร็จได้
โอกาสอันดีที่ข้าราชการของเรา 9 คน จะไปเป็นนิสิตใหม่ของมหาวิทยาลัยบูรพา และทำงานควบคู่กับเข้าศึกษาเล่าเรียน ซึ่งถ้าเป็นชาวต่างชาติถือเป็นเรื่องที่วิเศษ ก็หมายความว่าคนที่เรียนหนังสือไม่ได้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยม หรือไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้าง แต่เป็นคนที่มีประสบการณ์และมีมุมมองในชีวิตจริงที่จะสามารถแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียนในกลุ่มของเพื่อน ๆ นิสิตด้วยกันได้ ผมเองก็ฝากท่านคณาจารย์ได้เมตตาช่วยดูแลน้อง ๆ ชุดนี้เป็นพิเศษด้วย โดยการมอบหมายงานให้มากกว่านิสิตกลุ่มอื่น จะได้ช่วยกันเค้นศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวของน้อง ๆ ทุกคน ได้เอาออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งนี้กรมการพัฒนาชุมชนมีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านงานพัฒนาชุมชนตลอดจนแนวทางการดำเนินงานการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยการกำกับดูแลและสนับสนุนการปฏิบัติงานของบัณฑิตอาสาในการปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยมีพัฒนากรผู้ประสานงานประจำตำบลเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาให้แก่บัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยบูรพา รวมถึงให้การสนับสนุนข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชน (จปฐ./กชช.2ค และอื่นๆ) ตลอดจนร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและมหาวิทยาลัยบูรพา ในการขับเคลื่อนโครงการในภาพรวมตามกรอบความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน
ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวขอบคุณและร่วมแสดงความยินดีกับนิสิตมหาบัณฑิต ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือกับทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก และมหาวิทยาลัยบูรพา ในการขับเคลื่อนโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ ระยะที่ 2 เพื่อการพัฒนาชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ที่มา: อิมเมจ โซลูชั่น