1) ให้บุคลากรในองค์กรปฏิบัติราชการที่บ้าน (Work from home) และ/หรือการปฏิบัติเหลื่อมเวลาสลับวันหรือเวลาทำงานร้อยละ 95 - 100 ของจำนวนบุคลากรในหน่วยงานสามารถปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานกับประสิทธิภาพประสิทธิผลในการบริหารราชการและการให้บริการประชาชนเป็นสำคัญตั้งแต่วันที่ 1 - 31 กรกฎาคม 2564 โดยหากมีภารกิจเร่งด่วนต้องเข้าปฏิบัติงานที่สำนักงานขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จและ/หรือนำไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งเพื่อลดความแออัดและการติดต่อสัมผัสระหว่างบุคคล
2) เน้นย้ำบุคลากรให้ปฏิบัติงานตามหลัก DMHTT (D : Social Distancing เว้นระยะห่าง M : Mask สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้านหรืออยู่ในพื้นที่สาธารณ H : Hand ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ T : Testing การตรวจเร็วรักษาเร็วควบคุมโรคได้เร็วและ T : Thai cha naใช้แอพไทยชนะ) อย่างเคร่งครัด
3) การจัดประชุมหรือเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานอื่นให้พิจารณาดำเนินการผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น
4) พิจารณาการปฏิบัติงานให้มีการดำเนินงานได้ภายใต้สถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามแผนที่กำหนดโดยเฉพาะงานบริการต้องสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
5) ให้กำชับเจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือหรือพื้นที่เสี่ยงตามข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีมีการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงยกเว้นเหตุราชการให้ปฏิบัติตามมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของจังหวัดนั้นโดยเฉพาะการกักกันในสถานที่ตามระยะเวลาซึ่งเจ้าพนักงานโรคติดต่อหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด
6) กรณีที่พบบุคลากรติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้พิจารณาปิดสำนักงานพ่นฆ่าเชื้อทำความสะอาดและจัดทีมเข้าปฏิบัติงานโดยปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
7) สำหรับหน่วยงานที่มีการดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชนซึ่งทำให้ต้องมีบุคลากรจากภายนอกเข้ามาอยู่ในพื้นที่สำนักงานเช่นการปรับปรุง-ซ่อมแซมอาคารสำนักงานขอให้พิจารณาสั่งการหยุดปฏิบัติงานตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) รวมทั้งให้มีการตรวจสอบบุคลากรกลุ่มดังกล่าวว่าเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและขอให้พิจารณาร่วมกับภาคเอกชนในการปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยเป็นไปตามกฎหมายระเบียบหลักเกณฑ์และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
"อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ยังคงเน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติงานตามแนวทางที่กำหนดโดยความเข้มงวดและหากพบว่าบุคคลากรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดโควิด-19 ได้มีการสั่งการให้มีการพ่นยาฆ่าเชื้อและแจ้งไทม์ไลน์ไปที่ศูนย์โควิคของกระทรวงเกษตรอีกทั้งให้บุคลากรที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อกักตัวดูอาการเป็นเวลา 14 วันด้วยเพื่อให้การป้องกันและควบคุมกำจัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปตามมาตรฐานของภาครัฐอย่างเคร่งครัด" ดร.ทองเปลวกล่าว
ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์