นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่แบบพกพา ควรดำเนินการเฉพาะสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ออกพื้นที่ภาคสนาม หรือในโรงพยาบาลสนามที่เครื่องเอกซเรย์ที่มีอยู่ในสถานพยาบาลไม่สามารถนำออกไปใช้ได้ และต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างรัดกุม พิจารณาอย่างรอบคอบในเรื่องระยะจากหลอดเอกซเรย์ถึงผิว เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานและบุคคลอื่นที่อยู่โดยรอบ ในการปฏิบัติการต้องมีขาตั้งตัวเครื่อง สวิตซ์ควบคุมเครื่องเอกซเรย์ระยะไกล (remote control) มีอุปกรณ์ป้องกัน การสะท้อนของรังสี ควรใช้เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่แบบพกพาในห้องที่สามารถป้องกันรังสีได้ เพื่อความปลอดภัยแก่ บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฉายรังส
วิธีการปฏิบัติในกรณีติดตั้งเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่แบบพกพา เพื่อใช้งานในโรงพยาบาลสนาม ดังนี้
- ต้องมีและใช้อุปกรณ์และวิธีการป้องกันอันตรายจากรังสี ตามมาตรฐานคุณภาพเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัย ทางการแพทย์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี พ.ศ.2562 กล่าวคือ ใช้เวลาในการปฏิบัติงานให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดรังสีให้มากที่สุดเท่าที่สามารถปฏิบัติงานได้ และให้มีอุปกรณ์ป้องกันรังสี
- ขณะปฏิบัติงานเจ้าหน้าต้องสวมเสื้อกำบังรังสี ปลอกคอกำบังรังสีหรือแผ่นกำบังอวัยวะสืบพันธุ์ โดยวัสดุกำบังรังสีอาจทำด้วยตะกั่วหรือวัสดุเทียบเท่ากับตะกั่วที่มีความหนาอย่างน้อย 0.25 มิลลิเมตร
- บริเวณที่ดำเนินการด้านรังสีต้องสามารถป้องกันรังสีกระเจิง โดยต้องมีผนังหรือฉากที่สามารถเพียงพอ ที่จะป้องกันรังสีรั่วบริเวณพื้นที่ควบคุมได้ไม่เกิน 100 ไมโครซีเวิร์ตต่อสัปดาห์ และบริเวณไม่ควบคุมต้องไม่เกิน 20 ไมโครซีเวิร์ตต่อสัปดาห์
- ผู้ปฏิบัติให้อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดรังสีไม่ต่ำกว่า 3 เมตร โดยที่เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ในภาคสนามต้องมีสายควบคุมการเอกซเรย์ หรือรีโมท เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ปฏิบัติอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดรังสี
- ในกรณีที่จำเป็นต้องเอกซเรย์สตรีตั้งครรภ์ต้องมีการป้องกันรังสีบริเวณท้องให้ได้รับรังสีน้อยที่สุด
- เครื่องเอกซเรย์ต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพเครื่องและความปลอดภัย ตามคู่มือมาตรฐานคุณภาพเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี พ.ศ.2562
ที่มา: โฟร์พีแอดส์ (96)