ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า นอกจากโควิดระลอก 4 จากการตรวจพบคลัสเตอร์ในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนมาก ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังประสบกับปัญหาน้ำประปาเค็ม อันเนื่องมาจากฝนทิ้งช่วงหรือมีปริมาณฝนที่น้อย อีกทั้งยังมีน้ำทะเลหนุนสูง จึงเป็นผลให้น้ำทะเลไหลไปเจือปนกับแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปา ดังนั้น สภาวิศวกร ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรม และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเพื่อแก้ปัญหาสังคมในหลากมิติ จึงขอเสนอ 4 แนวทางโดยอิงหลักวิศวกรรมได้ดังต่อไปนี้
- เปลี่ยนตำแหน่งสถานีสูบน้ำดิบ ของการประปานครหลวง (กปน.) จ. ปทุมธานี อาจใกล้ปลายน้ำมากไป แม้ในอดีตถือว่า เป็นตำแหน่งที่คิดว่า น้ำทะเลคงหนุนไม่ถึง แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติรุนแรง กปน.อาจต้องย้ายสถานีสูบน้ำดิบ ขึ้นเหนือไปอีก ที่น้ำทะเลหนุนไม่ถึง ด้วยเทคโนโลยีระบบท่อและอุโมงค์ จะไม่เป็นปัญหาเลย เพราะในต่างประเทศ หรือแม้แต่การประปาภูมิภาคของไทย ก็สามารถลำเลียงน้ำดิบมาผลิตน้ำประปา ในระยะทางไกล
- จัดหาแหล่งน้ำดิบสำรอง อาจเป็นบ่อน้ำจืดขนาดใหญ่ หรือขนาดย่อมหลายพื้นที่ เช่น เหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์ ไว้ใช้ทำน้ำประปา ในช่วงน้ำทะเลหนุน
- ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลการปล่อยน้ำระหว่างหน่วยงาน โดยการปรับระบบการปล่อยน้ำเหนือของกรมชลประทาน ต้องมีการวางแผนและวิธีการปล่อยน้ำลงมาในช่วงจังหวะที่เหมาะสม
- ปรับการบริหารจัดการเปิด-ปิดประตูน้ำ ตามหลักวิศวกรรม น้ำเค็มหนุนก็ต้องปิด น้ำลงก็เปิด ซึ่งต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับการขนส่งทางเรือ ทางคลอง และทางแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงต้องพิจารณาปัจจัยของน้ำฝน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปได้อย่างบูรณาการ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ สายด่วนสภาวิศวกร 1303 และไลน์ไอดี @coethai หรือติดตามข่าวสารและกิจกรรมความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกรได้ที่ www.facebook.com/coethailand, www.coe.or.th และยูทูบแชลแนล "COE Thailand"
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์