ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ตามนโยบายจัดการศึกษา ของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษา ให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน ให้มีระบบบริหารและการจัดการ รวมถึงการจัดโครงสร้างหน่วยงานให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงได้ปรับแนวทางการบริหารจัดการเพื่อให้มีความคล่องตัว และสอดคล้องกับบริบทพื้นที่และตอบสนองความต้องการกำลังคนของอุตสาหกรรมต่างๆ โดย สอศ.ได้จัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ขึ้น 15 แห่งทั่วประเทศ เพื่อวางแผนความร่วมมือ จัดทำฐานข้อมูลกำลังคน การดูแลอำนวยความสะดวก และสวัสดิการของผู้เรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีในเขตพื้นที่ต่างๆ และส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ความร่วมมือกับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพทั้งทักษะความสามารถ และคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งยกระดับคุณภาพกำลังคนในกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษา รวมถึงกำลังคนในสถานประกอบการให้มีสมรรถนะในมิติของวิชาชีพสูงขึ้น
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ เปรียบเสมือนตัวกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษา หรือสถาบันการอาชีวศึกษา สถานประกอบการ และ สอศ.ในการประสานการพัฒนากำลังคน โดยศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่แบ่งเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่ 1. ฝ่ายอำนวยการ ดำเนินการสำรวจข้อมูลความต้องการรับนักเรียน นักศึกษา เข้าฝึกงานและฝึกอาชีพของสถานประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบ และการติดตาม ประเมินผล และรายงานผล 2. ฝ่ายพัฒนาวิชาการทวิภาคี จะจัดทำแผนพัฒนาการฝึกงาน และอบรมครูนิเทศก์และครูฝึกในพื้นที่รับผิดชอบ 3. ฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี จะดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้กับสถานประกอบการในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และ 4. ฝ่ายสวัสดิภาพและความปลอดภัย จะดูแลและเตรียมความพร้อมผู้เรียนในการสร้างความตระหนัก และความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการฝึกงาน และฝึกอาชีพทั้งในสถานศึกษาและในสถานประกอบการ ซึ่ง สอศ.ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนดำเนินการบริหารจัดการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า สำหรับศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่จัดตั้งขึ้นในสถานศึกษา จำนวน 15 แห่ง ได้แก่ 1. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีภาคตะวันออก 1 โดยวิทยาลัยเทคนิคปราจีนเป็นศูนย์หลัก 2. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีภาคตะวันออก 2 มีวิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จ.ระยอง เป็นศูนย์หลัก 3. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีภาคกลาง 1 มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาพระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์หลัก 4. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีภาคกลาง 2 มีวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี เป็นศูนย์หลัก 5. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีภาคเหนือ 1 มีวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่เป็นศูนย์หลัก 6. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีภาคเหนือ 2 มีวิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์เป็นศูนย์หลัก 7. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 มีวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานีเป็นศูนย์หลัก 8. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 มีวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมาเป็นศูนย์หลัก 9. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 มีวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานีเป็นศูนย์หลัก 10. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีภาคใต้ 1 มีวิทยาลัยเทคนิคสุราษฏร์ธานีเป็นศูนย์หลัก 11. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีภาคใต้ 2 มีวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ตเป็นศูนย์หลัก 12. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีภาคใต้ 3 มีวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นศูนย์หลัก 13. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีปริมณฑลภาค 1 มีวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานีเป็นศูนย์หลัก 14. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีปริมณฑลภาค 2 มีวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการเป็นศูนย์หลัก และ15. ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีกรุงเทพมหานคร มีวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพเป็นศูนย์หลัก
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา