วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ ครั้งที่ 3/2564 โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมการประชุม และนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่เลขานุการ ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า คณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งองค์กร สมาคมคนพิการ เพื่อบูรณาการการทำงานของแต่ละหน่วยงานในการพัฒนาทักษะฝีมือและส่งเสริมการประกอบอาชีพคนพิการ ให้คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และผู้ช่วยคนพิการได้เข้าถึงการพัฒนาทักษะฝีมือ โดยได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ (พ.ศ. 2564-2570) รวมทั้งสิ้น 69 โครงการ เป้าหมายกว่า 2 แสนคน ภายใต้งบประมาณกว่า 14 ล้านบาท ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาทักษะคนพิการ จำนวน 41 โครงการ ด้านการส่งเสริมการประกอบอาชีพและการจ้างงานคนพิการ จำนวน 25 โครงการ และด้านการพัฒนาศักยภาพคนพิการผ่านการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงาน จำนวน 3 โครงการ นอกจากนี้ ยังได้สร้างแนวทางการจัดให้มีเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมกลุ่มเปราะบาง โดยความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และแนวทางการแก้ไขปัญหาการจ้างงานนักกีฬาคนพิการอีกด้วย
รมช. แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดแนวทางส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาหลักสูตรอบรมคนพิการเพื่อส่งเสริมการมีงานทำ ไม่ว่าจะเป็นการรับรองหลักสูตรการฝึกอบรมอาชีพ โดยนำหลักสูตรของการพัฒนาฝีมือแรงงานมาเป็นกรอบการจัดทำการฝึกอบรมระยะสั้น ระยะกลาง สำหรับคนพิการแต่ละประเภท และให้องค์กรคนพิการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอใช้หลักสูตรได้ เพื่อให้สามารถนำวุฒิบัตรที่ได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานไปขอกู้เงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เสนอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดทำหลักสูตรกลาง สำหรับการอบรมตามมาตรา 35 ของ พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และอนุมัติให้สถานประกอบกิจการ ชมรมหรือองค์กรคนพิการ นำหลักสูตรกลางไปจัดฝึกอบรมคนพิการแต่ละประเภทตามมาตรา 35 รวมถึงให้มีการเทียบโอนคุณวุฒิ หรือประเมินทักษะอาชีพ หรือการทำงานต่อไป
"ขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันระดมพลังความคิด แรงกาย แรงใจ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนแนวทางการทำงานแก่พี่น้องประชาชนกลุ่มคนพิการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีศักยภาพและเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แล้วเราจะก้าวข้ามวิกฤติในช่วงนี้ไปด้วยกัน" รมช. แรงงาน กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: กระทรวงแรงงาน