ทั้งนี้ มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติใช้เกณฑ์วัด ระดับความรู้ ทักษะและเจตคติ ในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพในสาขานั้นๆ โดยการทดสอบ แบ่งออก เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกวัดภาคความรู้ ร้อยละ 20 และส่วนที่สองวัดภาคทักษะร้อยละ 80 โดยผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานจะต้องได้รับคะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการจ้างงาน ดังนี้
(1) ด้านสถานประกอบการหรือนายจ้าง จะสามารถกำหนดอันดับชั้นของพนักงานโดยอาศัยมาตรฐานฝีมือแรงงานและใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาบุคลากรหรือคัดเลือกบุคลากรที่เป็นช่างฝีมือเข้าทำงานได้เหมาะสมกับความจำเป็นของงาน (2) ด้านแรงงานฝีมือหรือผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีฝีมือที่สามารถทำงานได้ดีมากด้วยประสบการณ์ แต่ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมด้านช่าง การมีมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานฝีมือเหล่านี้ได้เข้าทดสอบความรู้ความสามารถและทัศนคติในเชิงช่าง (3) ด้านผู้บริโภค ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการช่างฝีมือที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ได้ผลงานที่มีคุณภาพ เที่ยงตรง เป็นธรรม เชื่อถือได้ (4) ด้านประเทศชาติ แรงงานฝีมือที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ และเมื่อนานาประเทศเกิดการยอมรับแรงงานฝีมือของประเทศไทย ก็จะส่งผลดีหลาย ๆ ด้าน เช่นความต้องการลงทุนของต่างชาติ การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เป็นต้น เมื่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น จะมีผลทำให้แรงงานได้รับค่าจ้างในอัตราที่เป็นธรรมดำรงชีพอยู่ได้ อยู่ดี กินดี สังคมสงบสุข ประเทศชาติมั่นคงต่อไป (5) ภาคราชการ สามารถใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน และวางแผนการพัฒนากำลังคน
ที่มา: สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน