นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต (สพร. 21 ภูเก็ต) หน่วยงานในสังกัดกพร. ใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับสมาคมพ่อครัวไทยภูเก็ต สมาคมสปาภูเก็ต สมาคมผู้บริหารงานช่างและพัฒนาฝีมือช่างภาคใต้ ชมรมผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่มอันดามัน จัดฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานตาม "โครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว" เพื่อผลิตกำลังคนรองรับแผนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) และตามนโยบายพัฒนากำลังแรงงานคุณภาพสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์นั้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกำลังแรงงานและประชาชนในพื้นที่สมัครเข้ารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและยึดตามมาตรการป้องกันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยรับเข้าฝึกอบรมเพียง 20 คนต่อรุ่นเท่านั้น
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมดังกล่าวนั้น เน้นทักษะด้านงานบริการให้สอดรับ กับความต้องการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยการทำเบเกอรี่ พนักงานผสมเครื่องดื่ม บาริสต้ามืออาชีพ การตัดแต่งผมชายสไตล์วินเทจ เทคนิคการนวดออฟฟิศซินโดรม การตัดเย็บชุดพื้นเมือง การประกอบอาหารไทย และช่างซ่อมบำรุงตามแนววิถีใหม่ จำนวน 10 รุ่น มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมกว่า 200 คน โดยใช้สถานที่ของสพร. 21 ภูเก็ต และศูนย์การค้าเซ็นทรัลภูเก็ต ฟลอเรสต้า ในการฝึกอบรม นอกจากนี้ยังมีผู้สนใจสมัครรอเข้าฝึกอบรมอีกเป็นจำนวนมาก จากกระแสตอบรับดังกล่าวจึงได้กำชับสพร. 21 ภูเก็ต เร่งดำเนินการเปิดฝึกอบรมในหลักสูตรด้านการท่องเที่ยวและบริการเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากเป็นการผลิตกำลังคนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังคนของจังหวัดภูเก็ตใน 3 อุตสาหกรรมสำคัญ คือ ท่องเที่ยว (โรงแรม) บริการสุขภาพ (ธุรกิจสปา) และมารีน่า (ธุรกิจท่าเทียบเรือ) อีกด้วย
"จากผลการดำเนินงานตามแผนภูเก็ตแซนด์บ๊อกดังกล่าว ได้กำชับให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นความปลอดภัยและติดตามสถานการณ์ของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เน้นทำงานเชิงรุกโดยบูรณาการกับงานหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในบริการกำลังแรงงานและประชาชน เป็นแนวทางการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และรับรองความรู้ความสามารถ เป็นการมองไปข้างหน้าและเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มดีขึ้น พร้อมเดินหน้าทุกภารกิจรับการเปิดประเทศต่อไป" อธิบดีกพร. กล่าว
ที่มา: กองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน