"ลุมพินี วิสดอม" ระบุ ตลาดบ้านอัจริยะมาแรงในยุค COVID-19

พฤหัส ๑๕ กรกฎาคม ๒๐๒๑ ๑๕:๒๗
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันว่า หลังการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้มีการพัฒนาการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของประชาชนภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิตในปัจจุบัน (Now Normal) โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย การออกแบบพื้นที่ใช้สอยและวัสดุ (Function & Material) ที่ตอบโจทย์กับการอยู่อาศัยและเป็นมิตรกับชีวิตและสิ่งแวดล้อม, การออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัย (Health) และ การนำนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยี Internet of Thinks (IoTs) และอุปกรณ์อัจฉริยะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญเพื่อตอบโจทย์การอยู่อาศัยที่สะดวกสบายและปลอดภัย มากยิ่งขึ้น

จากการประเมินของ IDC สถาบันวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐฯ ระบุว่า จำนวนอุปกรณ์ Smart Residence ของโลก มีอัตรการเติบโตเฉลี่ย 31% ต่อปี จากจำนวน 644 ล้านเครื่องในปี 2561 จะเพิ่มเป็น 1,300 ล้านเครื่องในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า เท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี ขณะที่ A.T. Kearney ระบุว่า มูลค่าตลาดของ Smart Residence ทั่วโลกจะอยู่ที่ 263,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 8.4 ล้านล้านบาทในปี 2568 โดยผลการศึกษายระบุว่า Smart Residence ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ 2 หมวดหลักๆ คืออุปกรณ์ที่เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัย

ขณะที่ บริษัท เมสเซ่ แฟรงก์เฟิร์ตนิว เอร่า บิซิเนส มีเดีย จำกัด ศึกษาการเติบโตของตลาด Smart Residence ในประเทศไทยระบุว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ Smart Home ของประเทศไทยในปี 2559 มีมูลค่า 645 ล้านบาท และเพิ่มมากกว่าเท่าตัวในปี 2563 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 40% ต่อปี โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ Smart Residence เพื่อการดูแลผู้สูงอายุ เติบโตสูงสุด 60% และผลิตภัณฑ์ Smart Home เพื่อการรักษาความปลอดภัยจะเติบโตเป็นอันดับสองคือ 45% ต่อปี

จากผลการสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทั่วโลกให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยเข้ามาใช้ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยในรูปแบบของบ้านอัจฉริยะหรือ Smart Residence มากขึ้นรวมทั้งพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่มีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้การอยู่อาศัยมีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

จากการวิจัยของทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ "ลุมพินี วิสดอม" พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึง 3 ปัจจัย ประกอบด้วย

  • พื้นที่ใช้สอยและวัสดุ (Function & Material)
  • การออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัย (Health)
  • เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย (Smart Living Technology)

โดยที่ Smart Residence เป็น 1 ใน 3 ปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ

พื้นที่ใช้สอยและวัสดุในแบบ Multifunctional Space
จากผลการศึกษาพบว่า หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากบ้านเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อการพักผ่อนและทำกิจกรรมส่วนตัว ในปัจจุบันบ้านเป็นทั้งที่ทำงานและสถานที่พักผ่อนไปพร้อมกันเมื่อผู้คนต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) มากขึ้น ทำให้การออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยในปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องออกแบบให้มีพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนการใช้สอยในพื้นที่ได้ในแบบ Multifunctional Space อาทิ การแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านด้วยผนังทึบอาจต้องปรับเปลี่ยนเป็นผนังที่สามารถเปิดเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ภายในที่อยู่อาศัย โดยการใช้บานเลื่อนหรือบานเฟี้ยม นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านความยืดหยุ่นของพื้นที่ใช้สอยแล้ว ยังทำให้ที่อยู่อาศัยดูโปร่ง และมีการไหลเวียนอากาศที่ดี เพื่อตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคต

ในขณะเดียวกันการเลือกใช้วัสดุต่างๆ ภายในที่อยู่อาศัย จำเป็นที่จะต้องเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม การระบายอากาศที่ดี หรือแม้แต่ปริมาณแสงธรรมชาติที่เข้ามาภายในพื้นที่ใช้สอยนั้นๆ เช่น พื้นที่ครัวโดยเฉพาะครัวไทย ที่ต้องใช้วัสดุที่เช็ดทำความสะอาดได้ง่าย กันน้ำได้ดี และระบายอากาศได้ง่าย หรือพื้นที่อ่านหนังสือ-พื้นที่นั่งเล่นที่ต้องการปริมาณแสงธรรมชาติมากกว่าห้องนอน เป็นต้น

การออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัย (Health)
จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทำให้ประชาชนตระหนักและหันมาดูแลสุขภาพตัวเองกันมากขึ้น การออกแบบที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ผู้ประกอบการอสังหาฯ จำเป็นที่ต้องออกแบบที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงสุขอนามัยที่ดี โดยใช้นวัตกรรมการออกแบบที่ส่งเสริมคุณภาพทางด้านสุขอนามัยภายในที่อยู่อาศัย เช่น ระบบช่วยลดไวรัสและแบคทีเรียภายในอากาศ โดยใช้ประจุบวกและลบ ซึ่งมีประสิทธิภาพการกำจัดได้ถึง 99% ระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศภายในบ้าน ที่ช่วยทำให้อากาศถ่ายเทแม้จะปิดประตูหน้าต่างอยู่ก็ตาม รวมถึงนวัตกรรมทางด้านวัสดุที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ เช่น สีทาบ้าน Low VOCs ซึ่งได้รับการรับรองว่ามีการปล่อยสาร VOCs หรือสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระดับต่ำ หรือลามิเนตที่ป้องกันแบคทีเรียและไวรัส เป็นต้น

นอกจากนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในเรื่องสุขอนามัยแล้ว พื้นที่สีเขียวภายในบ้านเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมสุขภาพทางด้านจิตใจให้แก่ผู้อยู่อาศัย ดังนั้นการออกแบบที่อยู่อาศัยจึงควรมีพื้นที่สวนเล็กๆ ภายในบริเวณบ้าน หรือมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ที่ระเบียงที่สามารถมองเห็นได้จากภายในห้อง

เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย (Smart Living Technology)
เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย (Smart Living Technology) ของ บ้านอัจฉริยะ Smart Residence หัวใจสำคัญคือ การสร้างความสะดวกสบายและ ความปลอดภัยในการอยู่อาศัย

ด้านความสะดวกสบาย การพัฒนา Smart Residence ได้มีการนำเทคโนโลยี Home Automation เชื่อมต่อเข้ากับระบบสั่งการต่างๆ ทั้งทางเสียง หรือ แอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อควบคุมการทำงานของระบบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในที่พักอาศัย เช่น การเปิด-ปิดไฟ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อาทิ โทรทัศน์ เครื่องเสียง ปลั๊กไฟ การปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ และ การควบคุมแสงสว่างและอุณหภูมิภายในบ้าน เป็นต้น รวมถึงการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตกับอุปกรณ์สั่งการด้วยเสียง ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่การตรวจสอบสภาพการจราจรก่อนออกจากบ้านได้เพียงแค่การถามอุปกรณ์นั้น

นอกจากนี้ การพัฒนา Smart Residence ต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยในรูปแบบของ Smart Residence ต้องนำนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาความร้อนภายในที่อยู่อาศัย เช่น ระบบ Fresh Air Intake ที่จะการถ่ายเทอากาศและระบายความร้อนออกจากตัวบ้านด้วยการนำอากาศใหม่เข้ามาในบ้านผ่านช่องระบายอากาศ และดึงความร้อนจากภายในตัวบ้านขึ้นไปยังช่องใต้หลังคาด้วยระบบระบายอากาศฝ้าเพดาน และระบายออกสู่นอกตัวบ้านผ่านระบบระบายความร้อนในช่องใต้หลังคา นอกจากระบบ Fresh Air Intake แล้ว การใช้วัสดุ เช่น กระจก อิฐก่อผนัง หลังคา หรือฉนวนกันร้อนที่ได้คุณภาพก็ยังช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานภายในบ้านได้อีกด้วย

ด้านความปลอดภัยระบบ Smart Residence ได้มีการนำระบบรักษาความปลอดภัย โดยมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น กล้องวงจรปิด ระบบเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว เซนเซอร์ที่ประตู-หน้าต่าง Digital Door Lock เป็นต้น โดยที่อุปกรณ์ต่างๆจะสามารถควบคุมได้ผ่านแอพพลิเคชั่น หรือ Home Automation ภายในบ้าน และเมื่อเกิดเหตุก็จะส่งสัญญาณเตือนมาที่โทรศัพท์ของผู้ใช้งาน

นอกจากนี้หากเป็นหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม ระบบ Smart Residence จะช่วยให้เจ้าของบ้านสามารถเห็นหน้าผู้ที่มาติดต่อผ่านกล้อง CCTV หน้าโครงการได้ ทำให้โครงการสามารถป้องกันการบุกรุกจากบุคคลภายนอก รวมถึงหากเกิดเหตุภายในบ้าน สัญญาณก็จะส่งไปยังส่วนรักษาความปลอดภัยหน้าโครงการ ทำให้ทีมรักษาความปลอดภัยสามารถเข้ามาได้ทันท่วงที รวมถึงการนำระบบควบคุมและจัดการอาคารอัตโนมัติ หรือ Building Automation System (BAS) เข้ามาใช้ในอาคารเพื่อการดูแลและบำรุงรักษาอาคารตามระยะเวลาที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงและความเสียหายจากอุปกรณ์ต่างๆ ของอาคารที่เสื่อมไปตามระยะเวลาการใช้งานเป็นต้น

"Smart Residence ถูกพัฒนาไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G เพื่ออำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัย และตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากปัจจัยเรื่องความสะดวกสบายและความปลอดภัยที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่อยู่อาศัยในอนาคตแล้ว การพิจารณาข้อดีและข้อเสียในการเลือกที่อยู่อาศัยที่มีเทคโนโลยีที่เสถียรในระดับราคาที่จับต้องได้ (Affordable Price) อย่างเหมาะสมและสมดุลกับตนเอง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ฉลาดซื้อ (Smart Life) ได้ในทุกมิติอย่างแท้จริง" นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

ที่มา: แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ