ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ

ศุกร์ ๑๖ กรกฎาคม ๒๐๒๑ ๐๘:๔๔
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) ของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SCBT ที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ ขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะสั้น (Short-Term Issuer Default Rating) ของ SCBT ที่ 'F1' อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ที่ 'bbb' อันดับเครดิตสนับสนุนที่ '1' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศที่ 'AAA(tha)'สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตสนับสนุน และอันดับเครดิตภายในประเทศ

อันดับเครดิตสากล และอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT พิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารแม่ ฟิทช์เชื่อว่าธนาคารแม่ซึ่งคือ Standard Chartered Bank (SCB, อันดับเครดิตสากล 'A+'/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ/อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน 'a') จะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) แก่บริษัทลูกในไทยในกรณีที่จำเป็น โดยอ้างอิงจากการที่ ธนาคารแม่ถือหุ้นในสัดส่วน 99.9% ใน SCBT โดย SCBT มีบทบาทสำคัญในด้านการสนับสนุนธุรกิจในภูมิภาคของกลุ่ม มีการผสานการดำเนินงานกันอย่างใกล้ชิด มีการควบคุมการบริหารงานและมีการใช้ชื่อและสัญญลักษณ์ทางการค้าร่วมกันกับธนาคารแม่

ฟิทช์ใช้อันดับความแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ของธนาคารแม่แทนที่จะใช้อันดับเครดิตสากลระยะยาวเป็นอันดับเครดิตอ้างอิง (anchor rating) สำหรับการประเมินปัจจัยสนับสนุนสำหรับธนาคารลูก เนื่องจากฟิทช์มองว่าอาจมีความไม่แน่นอนว่า SCBT จะได้รับประโยชน์จาก qualifying junior debt ของธนาคารแม่ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ SCB มีอันดับเครดิตสากลระยะยาวสูงกว่าอันดับความแกร่งทางการเงิน โดยอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ SCBT ได้รับการจัดอันดับที่ระดับต่ำกว่า VR ของ SCB อยู่หนึ่งอันดับ เนื่องจาก SCBT มีบทบาทสำคัญต่อกลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดน้อยกว่าธนาคารคารลูกอื่นๆ ของ SCB ที่มีขนาดใหญ่กว่า แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ SCBT สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารแม่

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT พิจารณาจากโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ ฟิทช์เชื่อว่าโครงสร้างอันดับเครดิตของ SCBT ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนมีความสอดคล้องกับอันดับเครดิตที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศ เนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของ SCBT สูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'BBB+

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBT ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานะเงินกองทุนหลักที่แข็งแกร่งของธนาคาร สภาพคล่องที่แข็งแกร่งและการยอมรับความเสี่ยงของธนาคารที่อยู่ในระดับปานกลาง โครงสร้างทางธุรกิจของ SCBT มุ่งเน้นไปที่ลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่และธนาคารซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อกลุ่มลูกค้าเช่น SME และลูกค้ารายย่อยที่มีความเสี่ยงต่อสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น แม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ท้าทายจะสร้างแรงกดดันต่อผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ของ SCBT แต่ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของ SCBT จะยังคงต่ำกว่าธนาคารอื่นที่มีอันดับใกล้เคียงกัน (สิ้นปี 2563: 0.3%) ฟิทช์ยังเชื่อว่าความเสี่ยงที่ต่ำกว่าจากการถือครองสินเชื่อระหว่างธนาคารและหลักทรัพย์รัฐบาล (รวม 61% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563) ของ SCBT จะช่วยให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคายังคงมีเสถียรภาพแม้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ฟิทช์คาดว่าผลกำไรจากการดำเนินงานของ SCBT จะลดลงในปี 2564 จากแรงกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญส่วนเกินและฐานะเงินกองทุนของธนาคารน่าจะสามารถรองรับการสูญเสียที่ไม่คาดคิดได้

ฐานะเงินกองทุนของ SCBT อยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดในภาคการธนาคารของไทย โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 30.2% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 (ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม 16.2%) ฟิทช์คาดว่าธนาคารจะคงอัตราส่วนเงินกองทุนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต - อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตสนับสนุน

- ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของความสามารถหรือโอกาส ของ SCB ในการให้การสนับสนุนให้แก่ SCBT อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับเพิ่มอันดับหรืออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศได้รับการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น 'มีเสถียรภาพ' แต่อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวจะไม่ได้รับการปรับอันดับเพิ่มอันดับ หากไม่ได้มีการปรับเพิ่มเพดานอันดับเครดิต (Country Ceiling) ของประเทศไทยที่ 'A-'

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นไม่น่าจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย

อันดับเครดิตสนับสนุน และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT อยู่ในระดับที่สูงที่สุดแล้วจึงไม่สามารถปรับเพิ่มอันดับได้

- ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับตัวลดลงในความสามารถของ SCB ที่จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT (ซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร) จะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลของ SCBT และอันดับเครดิตสนับสนุนได้รับการปรับลดอันดับ

การปรับตัวลดลงของโอกาสที่ SCB จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสากลของธนาคารลูกและอันดับเครดิตสนับสนุนได้รับการปรับลดอันดับ ตัวอย่างเช่น การลดสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารแม่ลงต่ำกว่า 75% พร้อมทั้งการลดลงของอำนาจควบคุมการบริหารงานและความเชื่อมโยงทางธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่ากรณีดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้นในระยะสั้น

การปรับลดเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT ถูกปรับลดอันดับ

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT อาจได้รับการปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของธนาคารถูกปรับลดอันดับแต่อย่างไรก็ตามฟิทช์จะพิจารณาความแข็งแกร่งโครงสร้างเครดิตของ SCBT เปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ด้วยเช่นกัน

- ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต - อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBT เป็น 'bbb+' หากรูปแบบของธุรกิจ (business model) ของธนาคารมีการกระจายตัวของธุรกิจที่ดีขึ้น (diversification) เครือข่ายทางธุรกิจของธนาคารปรับตัวดีขึ้นและหากธนาคารมีกำไรที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังจากผ่านพ้นภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาจรวมถึงการรักษาอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับสูงกว่า 2.5% รวมถึงการรักษาอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับสูงและมีระดับเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่สูงกว่า 17% ในระยะยาว

- ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับความแข็งแกร่งของธนาคารอาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น 'bbb-' หากฐานะเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวลดลงต่ำกว่าคาดการณ์ของฟิทช์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจสะท้อนโดยการปรับลดคะแนนสำหรับหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 5% (สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 0.3%) ร่วมกับการมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่น้อยลงเช่นการมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารปรับตัวลดลงต่ำกว่า 15% (สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 30.2%) และการมีอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 120%

- อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น

อันดับเครดิตของ SCBT มีความเชื่อมโยงกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB

- การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ EBG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1'
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1'
  • อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับที่ 'bbb'
  • อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ '1'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ