MDP เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เต็มรูปแบบ

ศุกร์ ๐๗ เมษายน ๒๐๐๖ ๑๑:๐๓
กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--สถาบันไทยเยอรมัน
สถาบันไทย-เยอรมัน ระบุผลสำเร็จโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ (MDP) กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ชี้เดินเครื่องเต็มแรงปี 49 เน้นการพัฒนาแบบคลัสเตอร์ สร้างเครือข่ายในสายอาชีพ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมไทย หลังปูพรมพัฒนาคน พัฒนาเทคโนโลยี
รศ.ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ กล่าวถึงภาพรวมความคืบหน้าของโครงการที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ว่า “ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์นั้น กำหนดไว้ 3 แนวทางหลัก คือ การพัฒนาบุคลากร ได้ดำเนินการฝึกอบรมบุคลากรใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และฝึกอบรมยกระดับพนักงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์รวมแล้วทั้งสิ้นเกือบ 1,500 คน ในทุกสาขา แนวทางที่สอง คือ การพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ 4 ด้าน คือ การวิจัยและพัฒนา การให้คำปรึกษา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสร้างแนวทางปฏิบัติ ซึ่งในการนำไปปฏิบัติจริง และแนวทางที่ 3 คือ การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ โดยสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในประเทศไทย ทั้งหมดนี้ถือเป็นความคืบหน้าของโครงการไปแล้วกว่าร้อยละ 85”
สำหรับทิศทางการพัฒนาในปี 49 นี้ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า จะเน้นการพัฒนาภายใต้การเชื่อมโยงและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ หรือคลัสเตอร์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมๆ กับการพัฒนาบุคลากร ภายใต้โครงการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมเฉพาะมาตรฐานวิชาชีพแม่พิมพ์ และคู่มือการฝึกอบรม โดยความรับผิดชอบของสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย เพื่อให้เกิดระบบและมาตรฐานการพัฒนาความรู้ที่เป็นเอกภาพและรูปแบบเดียวกัน
นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการพัฒนาโรงงานแม่พิมพ์ต้นแบบ หรือ M&D Best เพื่อเฟ้นหาโรงงานแม่พิมพ์ดีเด่น โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการและผ่านการคัดเลือกจะได้รับการวินิจฉัยปัญหาของการดำเนินธุรกิจในทุกๆ ด้าน พร้อมรับบริการปรึกษาแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิของโครงการ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นโรงงานแม่พิมพ์ที่ดี มีความพร้อมทั้งด้านการผลิต เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ ยังมีการดำเนินยุทธศาสตร์การสร้างสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ แบบอินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ควบคู่ไปด้วย โดยการจัดทำโครงสร้างฐานข้อมูลและเว็บท่า เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำหน่วยสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ต่อไป ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานให้กับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยอย่างยั่งยืน
ทางด้าน ดร.ดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ว่า “อุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีความสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเซรามิก ไปจนกระทั่งอุตสาหกรรมของเด็กเล่น ซึ่งนับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก ประเทศที่มีความเจริญระดับแนวหน้าทางด้านอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ล้วนให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จนกลายเป็นฐานรากที่แข็งแรง เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ความสำเร็จของโครงการในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงาน สร้างคน เพิ่มศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมหลัก และรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี”
อนึ่ง โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์นี้ เป็นโครงการระยะยาวที่จะสิ้นสุดในปี 2552 โดยในปี 2549 จะเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ที่วางไว้ โดยจะเน้นในเรื่องของการเชื่อมโยงและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในวงการ รวมทั้งให้การสนับสนุนอุตสาหกรรม และการบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิต และลดการนำเข้าแม่พิมพ์จากต่างประเทศ
และในปีนี้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยังได้มอบหมายให้สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยจัดทำโครงการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมเฉพาะมาตรฐานวิชาชีพแม่พิมพ์และคู่มือการฝึกอบรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ภายใต้ฐานข้อมูลและแผนงานเดียวกัน และ โครงการพัฒนาโรงงานแม่พิมพ์ต้นแบบ หรือ M&D Best เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโรงงานแม่พิมพ์ให้มีความเป็นเลิศในทุกๆ ด้านทั้งด้านการผลิตและการบริหาร เพื่อให้เป็นโรงงานต้นแบบสำหรับพัฒนาโรงงานแม่พิมพ์อื่นๆ ต่อไปในอนาคต
รวมทั้งการมุ่งพัฒนาเพิ่มศักยภาพศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือเอ็กเซลเลนท์ เซ็นเตอร์ (Excellence Center) โดยให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนากับสถาบันการศึกษาต่างๆ 7 สถาบันที่เข้าร่วมโครงการฯ อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคล สุวรรณภูมิ สถาบันเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นรากฐานในการสร้างแรงงานที่มีความชำนาญเฉพาะทางให้กับประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก
โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์
สถาบันไทยเยอรมัน
โทร 038 456 800

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version