ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคงคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยที่ร้อยละ 1.8 ในปี 2564 และร้อยละ 3.1 ในปี 2565
"สถานการณ์โควิด-19 และการกระจายวัคซีนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ในขณะที่การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและความชัดเจนของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และจะสะท้อนให้เห็นทิศทางต่อไปในปีหน้า" ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าว
"เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบาง เราคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำไปอีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าธนาคารกลางบางแห่งจะเริ่มส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วก็ตาม"
ภาพรวมเศรษฐกิจยังน่ากังวล แต่ความมั่นใจในระยะยาวยังดีอยู่
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดได้พบนักลงทุนสถาบันต่างชาติเมื่อไม่นานมานี้ รวมทั้งได้จัดงานสัมมนาออนไลน์อัพเดททิศทางเศรษฐกิจให้กับลูกค้า พบว่านักลงทุนและลูกค้ายังมีความกังวลกับความไม่แน่นอนในภาพรวมเศรษฐกิจไทย
"จากโรดโชว์ของเรา นักลงทุนถามถึงทิศทางของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของไทย และถามว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน เรามองค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯอย่างไร เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในภูมิภาคตั้งแต่ต้นปี" ดร.ทิม กล่าว
จากงานสัมมนาออนไลน์อัพเดททิศทางเศรษฐกิจของธนาคาร พบว่าผู้เข้าร่วมงานสัมมนาส่วนใหญ่ จากทั้งหมด 150 ท่านทั่วโลก มองว่ายังมีความไม่แน่นอนรออยู่ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
"ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายนลดลงต่ำสุดในรอบ 22 ปี และคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี หรืออาจจะต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า" ดร.ทิมกล่าว
แม้ขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่จากบทวิจัยล่าสุดของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดพบว่า บริษัทต่างชาติ รวมถึงบริษัทจากยุโรป มองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจมายังภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทย เวียดนาม และมาเลเซีย
ทิศทางค่าเงินบาท
"เรายังเห็นปัจจัยลบต่อค่าเงินบาท การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยยังมีความไม่แน่นอน ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงอย่างมาก ทำให้เรามองว่า ค่าเงินบาทน่าจะเผชิญสภาวะที่ท้าทายในช่วงต่อจากนี้" ดร.ทิม กล่าวเสริม
ที่มา: ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)