นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยประชาชนและพี่น้องแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาทักษะแรงงานที่ไม่ควรหยุดนิ่งและจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับความปลอดภัยของแรงงาน เร่งส่งเสริมทักษะแรงงานในประเทศ และการส่งออกแรงงานไทย สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงานด้านการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน จึงมอบหมายให้ กพร. ดำเนินการฝึกทักษะแรงงานตามมาตรการปลอดภัยขั้นสุด โดยจัดฝึกอบรมออนไลน์เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่แรงงานได้พัฒนาทักษะฝีมือในช่วงที่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวและเตรียมความพร้อมเป็นแรงงานคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายต่อไป
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า กพร.ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตร การจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือขึ้น โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร (สพร.13 กทม.) ประกาศรับสมัครอบรมรุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ระหว่างวันที่ 14 - 19 กันยายน 2564 จำนวน 25 คน ระยะเวลาการฝึก 42 ชั่วโมง ฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติผ่านระบบ Zoom Meeting ภายใต้หัวข้อความปลอดภัยและสุขภาพในการปฏิบัติงาน สุขลักษณะส่วนบุคคลและอาหาร ทักษะการประกอบอาหาร การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ โภชนาการและสุขภาพ การจัดการและการควบคุมดูแลครัว การจัดการของเสียในครัว มุมมองด้านศาสนาและวัฒนธรรม คุณสมบัติผู้สมัครต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นอุปสรรคต่อการฝึกอบรม จบการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษา 3 (ม.3) หรือเทียบเท่า หรือมีประสบการณ์การทำงานบนเรือเดินทะเลไม่น้อยกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ ในปี 2565 จะจัดฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าวอีก 4 รุ่น รุ่นละ 25 คน ซึ่งจะเปิดรับสมัครช่วงเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
ด้านนายธนกร วรสิทธิ์ขจร (เอ๋) อายุ 43 ปี อาชีพ ขายส้มตำไก่ย่าง จ.พิษณุโลก เคยเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร การจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ กับ สพร.13 กทม. เปิดเผยว่า หลังจากตนจบจากการฝึกอบรมกับทางหน่วยงาน ได้มีประสบการณ์ทำงานบนเรือสินค้าขนาดใหญ่ซึ่งเดินเรือในมหาสมุทรแถบทวีปเอเชีย เมื่อปี 2563 ตำแหน่งกุ๊ก ระยะเวลา 9 เดือน ได้รับเงินเดือนๆละ 28,000 - 34,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับความขยันการทำงานล่วงเวลา รายได้อาจจะดูไม่มากเท่าเรือสำราญแต่หากเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างบนเรือกับตอนอยู่ภาคพื้นดินในประเทศนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง เพราะทำให้มีเงินเก็บมากกว่าทำงานทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันตนได้หมดสัญญากับบริษัทว่าจ้างทำงานบนเรือ และมีความตั้งใจจะไปทำงานอีก แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทางเรือมีข้อกำหนดให้พนักงานบนเรือทุกคนต้องได้รับวัคซีนครบจำนวน 2 โดสแล้วเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ทำงานบนเรือได้ ซึ่งตนยังรอคิวรับวัคซีนอยู่ และอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจทำงานบนเรือ มาอบรมกับ กพร.ที่มีวิทยากรคุณภาพเคยเป็นกัปตันเรือใหญ่มาให้ความรู้ทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ เพื่อความพร้อมหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย จะได้เพิ่มโอกาสในการทำงานบนเรือได้"คนครัวบนเรือต้องผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองอย่างเช่น กพร. เนื่องด้วยอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานในกิจการทางทะเล ค.ศ.2006 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ที่ได้กำหนดไว้
สำหรับท่านที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยการแรงงาน สพร.13 กทม. โทร. 0 2245 4317 หรือสายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 กด 4" อธิบดี กพร. กล่าว
ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน