น.ส. หลุยส์ เตชะอุบล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า "การเข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเกินสิทธิดังกล่าว บริษัทได้เล็งเห็นโอกาสที่ดีที่จะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าทั้งในด้านการลงทุน รวมถึงด้านความสัมพันธ์ในทางธุรกิจต่อไปในอนาคตกับ FPT โดยการเพิ่มทุนในครั้งนี้ FPT มีแผนจะนำเงินไปใช้สำหรับโครงการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันใหม่ ๆ ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อบริษัทและต่อสังคม รวมถึงเป็นการช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายในการดำเนินธุรกิจของบริษัท"
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ("FPT")
บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ("FPT") ได้จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 เพื่อดำเนินกิจการระบบขนส่งน้ำมันทางท่อจากโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ผ่านคลังน้ำมันช่องนนทรี โดยขนส่งน้ำมันอากาศยานไปยังคลังน้ำมันดอนเมืองและคลังน้ำมันสุวรรณภูมิให้กับ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ("BAFS") พร้อมกับขนส่งน้ำมันภาคพื้นดินไปยังคลังน้ำมันบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระยะทางรวม 99 กิโลเมตร ซึ่งตลอดระยะเวลาในการดำเนินกิจการมา กว่า 28 ปี ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแต่อย่างใดอีกทั้งเป็นระบบการขนส่งน้ำมันที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด ปลอดภัย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รักษาสิ่งแวดล้อม และลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งน้ำมันด้วยรถบรรทุกน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ต่อมา FPT ได้รับอนุมัติจากกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้ขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันและคลังน้ำมันไปภาคเหนือระยะทางรวม 576 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อที่ยาวที่สุดของกลุ่มประเทศอาเซียนโดยโครงการระยะที่ 1 ต่อขยายจากระบบท่อเดิมที่คลังน้ำมันบางปะอินไปยังคลังน้ำมันพิจิตรระยะทาง 367 กิโลเมตร เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 และโครงการระยะที่ 2 ต่อขยายสถานีเพิ่มแรงดันกำแพงเพชรไปยังคลังน้ำมันนครลำปางระยะทาง 209 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3/2564
ในส่วนของการเพิ่มทุนของ FPT ในครั้งนี้ FPT มีวัตถุประสงค์หลักจะนำเงินไปใช้สำหรับโครงการระยะที่ 3 ส่วนต่อขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันสระบุรี-อ่างทอง ระยะทาง 52 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อบริษัทและสังคม รวมถึงตอบสนองนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้ระบบท่อขนส่งน้ำมันเป็นยุทธศาสตร์หลักสำคัญในด้านการจัดการระบบน้ำมันอันเป็นพลังงานสำคัญของชาติ สร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงาน ส่งผลให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศที่เชื่อถือได้ เอื้อต่อนโยบายการเก็บสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศในระบบคลังน้ำมันส่วนภูมิภาค รองรับการเจริญเติบโตของการบริโภคน้ำมันทางภาคเหนือ อีกทั้งยังช่วยลดอุบัติเหตุ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จากรถบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายในการดำเนินธุรกิจของบริษัท
ที่มา: ไทรทัน โฮลดิ้ง