"เมืองทองธานี มีพื้นที่รวมกว่า 4,000 ไร่ ถือเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ในส่วนของที่พักอาศัยมีทั้งโครงการบ้านจัดสรร บ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม ผู้พักอาศัยราว 200,000 คน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจ ที่มีร้านค้า สถานบริการ อาคารสำนักงานของหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน สถานศึกษา เปิดดำเนินการหลายแห่งในพื้นที่ รวมถึงอิมแพ็คเอง หากสถานการณ์ปกติ ในแต่ละปีศูนย์ฯ มีการจัดงานต่างๆ รวมกว่า 1,000 งาน รองรับผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศและคนไทยหมุนเวียนมาในพื้นที่มากกว่า 10 ล้านคน"
ที่ผ่านมา อิมแพ็ค บริหารจัดการพื้นที่ภายใต้ มอก.22300 มาตรฐานระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย สำหรับการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการ พร้อมจัดทีมบริหารเมือง หรือ City Management เป็นหน่วยงานดูแลความปลอดภัยพื้นที่เมืองทองธานี การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดโครงการ SMART SAFETY ZONE 4.0 และเลือกเมืองทองธานีเป็นหนึ่งพื้นที่สำคัญที่จะต้องดูแลความปลอดภัย จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นตอกย้ำให้ อิมแพ็ค เป็นศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติ ที่มีความปลอดภัยสูงสุด
ด้าน พ.ต.ต.วิวัฒน์ ทองสุข สว.จร.สภ.ปากเกร็ด กล่าวเสริมว่า โครงการ Smart Safety Zone 4.0 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชน มีเป้าหมายเพื่อพัฒนารูปแบบวิธีการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก โดยใช้นวัตกรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ ซึ่งทางตำรวจภูธรภาค 1 ได้เลือกพื้นที่ เมืองทองธานี เข้าโครงการนี้ ตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก 3 ประการ ได้แก่ RISK, LAND MARK และ ECONOMIC เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เป็นที่ตั้งของ อิมแพ็ค ซึ่งเป็นศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ในพื้นที่เมืองทองธานี ยังมีผู้พักอาศัย ผู้ที่เดินทางมาทำงาน และมาเที่ยวชมงานและใช้บริการ ร้านค้า ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก จึงต้องให้การดูแลความปลอดภัยอย่างดีที่สุด
การดำเนินโครงการ SMART SAFETY ZONE 4.0 เมืองทองธานี ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.พงศ์จักร ปรีชาการุณพงศ์ ผกก.สภ.ปากเกร็ด ได้กำหนดจุดตรวจความปลอดภัยทั้งหมด 33 จุด แบ่งเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ โซน A พื้นที่สีแดง เช่น พื้นที่หน้าศาลตา-ยายเมืองทองธานี, พื้นที่หน้าโรงแรมไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค, ลานจอดรถหลังห้างสรรพสินค้า คอสโม บาซาร์, พื้นที่คอนโดเมืองทองธานี เป็นต้น โซน B พื้นที่สีเหลือง เช่น ปั้มน้ำมัน ปตท. วัดผาสุกมณีจักร, ห้างสรรพสินค้าบีไฮฟ เป็นต้น โซน C พื้นที่สีเขียว เช่น ปากทางถนนบอนด์สตรีท-ถนนติวานนท์, ตลาดบุญเจริญไนท์มาร์เก็ต, ริมทะเลสาบ เป็นต้น และโซน D พื้นที่สีฟ้า เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วนศรีสมาน, ทางเข้าสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทางตำรวจได้หารือและทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในการวิเคราะห์จุดเสี่ยงภัยในพื้นที่ รวมถึงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมในการป้องกันอาชญากรรม การจัดทำแผนการตรวจป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกในรูปแบบใหม่ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพและจะต้องวางเพิ่มเติมเข้าไปในพื้นที่ เช่น การจัดทำศูนย์รวมกล้อง CCTV ของเมืองทองธานี ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความปลอดภัยประชาชนมั่นใจในการดำเนินชีวิต
ที่มา: อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์