ผศ.ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.)หรือ DPU เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายสาขาอาชีพ รวมไปถึงปรับเปลี่ยนการทำงานไปสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ในส่วนของภาคการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้นักเรียนหลายคนหันมาสนใจเรียนสาขาที่สามารถทำงานราชการได้มากขึ้น เห็นได้จากยอดผู้สมัครเรียนปีการศึกษา2564 มีนักเรียนให้ความสนใจสมัครเรียนคณะรัฐประศาสนศาสตร์ หรือ รปศ..DPU เพิ่มขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งอาจมาจากคำแนะนำของผู้ปกครองที่อยากให้ลูกหลานเข้ารับราชการ เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงในทุกสถานการณ์ ซึ่งคณะฯเปิดสอนหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ในระดับปริญญาตรีภาคปกติเรียนวันจันทร์ถึงวันศุกร์และปริญญาตรีภาคเสาร์-อาทิตย์ และเปิดสอนระดับปริญญาโทเรียนเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์
ผศ.ดร.วลัยพร กล่าวว่า หลักสูตรระดับปริญญาตรี การเลือกเรียนคณะที่ตรงกับสายงานราชการนั้น หลายคนอาจมองภาพไม่ออกว่าระหว่างรัฐประศาสนศาสตร์และรัฐศาสตร์มีความแตกต่างกันอย่างไร เนื่องจากทั้งสองศาสตร์นี้มีความคาบเกี่ยวกันอยู่ แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันจะเห็นได้ว่ารัฐศาสตร์จะเรียนเรื่องการเมือง การปกครอง กระบวนการและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่อำนาจ การลงจากอำนาจ พรรคการเมือง การเลือกตั้ง กลุ่มผลประโยชน์ เป็นต้น เมื่อเรียนจบออกไปแล้ว สามารถประกอบอาชีพในหน่วยงานราชการและงานทางการเมืองได้ ส่วนรัฐประศาสนศาสตร์ จะเรียนเกี่ยวกับการบริหารภาครัฐทั้งหมด เรียนแก่นสาระวิชาโครงสร้างการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เรียนกระบวนการนโยบายสาธารณะ การเงินการคลังภาครัฐ องค์กรสมัยใหม่ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้เพื่อให้เปิดมุมมองที่กว้างขวางไร้พรมแดน ยังเรียนสาระวิชาที่เป็นเรื่องการต่างประเทศ มิติใหม่แห่งการพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0 EEC เป็นต้น เมื่อเรียนจบสามารถสมัครรับราชการในหน่วยงานภาครัฐ ทั่วประเทศ อาทิ กระทรวง กรม จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น.ตำรวจ ทหาร เป็นต้น ในส่วนของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เช่น การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค ไปรษณีย์ไทย เป็นต้น ส่วนบริษัทเอกชน เช่น ธนาคาร งานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resources : HR) และงานด้านบริหารจัดการทั่วไป ในบริษัทต่างๆ เป็นต้น
ผศ.ดร.วลัยพร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของหลักสูตร รปศ.DPU ถูกออกแบบมาเพื่อปั้นให้นักศึกษาเป็นผู้บริหารงานภาครัฐอย่างมืออาชีพ โดยเน้นการเรียนแบบ Project-Based Learning หรือ การเรียนรู้จากประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริง ซึ่งนักศึกษาต้องลงไปศึกษาชุมชนหรือหมู่บ้าน รวบรวมข้อมูลของในพื้นที่นั้นมาศึกษาวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาและเสนอกิจกรรมแก้ปัญหาเหล่านั้น พร้อมกันนั้นยังถูกฝึกให้ทำงานจิตอาสาไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง เพื่อเรียนรู้การให้ ความเสียสละ และรู้จักตัวเองมากขึ้น เมื่อเข้าไปทำงานในหน่วยงานราชการเด็กจะคุ้นชินกับการทำงานราชการที่จะทำงานตอบสนองประชาชน และเป็นข้าราชการที่ดีในอนาคต นอกจากนี้แล้วนโยบายของมหาวิทยาลัยในการเสริม 6 ทักษะสำคัญผ่าน DPU CORE ได้แก่ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ,ทักษะทางเทคโนโลยี,ทักษะการวิเคราะห์และแก้ปัญหา,ทักษะการสื่อสาร,ทักษะการทำงานเป็นทีม,ทักษะด้านการมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทักษะทั้ง 6 นี้ ถือเป็นอาวุธอันทรงพลังที่เด็ก DPU ทุกคนต้องมีติดตัว และยังเป็นแต้มต่อที่นำไปใช้ในการสร้างธุรกิจเป็นของตนเองรวมถึงแก้ไขปัญหาในการทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือไม่ นี่คือความพิเศษของรัฐประศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ผศ.ดร.วลัยพร กล่าวอีกว่า ในปีการศึกษา 2565 คณะรปศ. DPU เตรียมปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลและสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น นอกจากแก่นสาระวิชาหลักของสาขาแล้ว ภายในหลักสูตรจะสอดแทรกเนื้อหาของการบริหารงานภาครัฐยุคดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น เช่น สาระวิชาการนำรูปแบบองค์กรเสมือนจริงมาใช้กับการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home การจัดการประชุมออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ การสร้างนวัตกรรมชุมชนผ่านออนไลน์ การออกแบบการบริการประชาชนในมิติต่างๆผ่านโลกออนไลน์ การรู้เท่าทันข้อมูลออนไลน์ เป็นต้น หลักสูตรดังกล่าวนอกจากจะเพิ่มความรู้ทางด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังฝึกให้คิดวิเคราะห์และนำแพลตฟอร์มหรือเครื่องมือต่างๆ นำใช้ประโยชน์ในการทำงานเพื่อตอบโจทย์และตอบวัตถุประสงค์ขององค์กร ขณะเดียวกันทางคณะยังเพิ่มการเรียนการสอนเป็นแบบโมดูล พร้อมเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกหรือข้าราชการเข้ามาเรียน Upskill Reskill เพื่อพัฒนาทักษะในการทำงาน ส่วนผู้เรียนสามารถเก็บสะสมหน่วยกิตไปใช้ในการเรียนต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทได้
"การเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้นักศึกษา ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากงานข้าราชการในอนาคตจะก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น Technology Disruption เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นคณะ รปศ.DPU หวังว่าทักษะต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยและคณะเตรียมและปลูกฝังให้นักศึกษาไว้ จะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานและตอบโจทย์ในศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี สุดท้ายนี้ อยากฝากถึงนักเรียนที่กำลังเลือกคณะเรียน อยากให้ทุกคนตัดสินใจเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบและคิดว่าใช่ ส่วนสาขาเรียนจะตอบโจทย์อนาคตของตนเองและมีความมั่นคงในชีวิตหรือไม่นั้น ทุกคนควรมองความเป็นจริงด้วยว่าโลกในปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างไร เพราะโควิด-19 ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนเรื่องของความไม่แน่นอนมากขึ้น"ผศ.ดร.วลัยพร กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์