นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ กล่าวว่า การแต่งตั้งกรรมการใหม่ในครั้งนี้ รวมไปถึงกรรมการเดิมที่มีอยู่จะช่วยให้ CAC เติบโตและแข็งแกร่งมากขึ้นในทุกมิติตามพันธกิจ 3 ด้าน ทั้งการขยายแนวร่วมของภาคเอกชน การยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานที่สามารถควบคุมความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน และการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในการให้บริการภาครัฐ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากขึ้น
โดยในปีที่ผ่านมา มีบริษัทร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC มากถึง 1,122 แห่ง เป็นบริษัทจดทะเบียน 444 บริษัท เป็น บริษัทจำกัด 517 บริษัท และ บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จำนวน 161 บริษัท โดยมีบริษัทที่ผ่านการรับรองว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อควบคุมความเสี่ยงคอร์รัปชันแล้ว 472 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ จำนวน 446 บริษัท และบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จำนวน 26 บริษัท นอกจากนี้ CAC ยังทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปรามปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรเพื่อพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา CAC เติบโตแข็งแกร่งขึ้นมากในทุกด้าน ทำให้ CAC เป็นหนึ่งในโครงการต่อต้านคอร์รัปชันภาคเอกชนระดับแนวหน้าที่โดดเด่นในภูมิภาคและได้รับการยอมรับในเวทีโลก ในฐานะที่เป็นการรวมกลุ่มของภาคเอกชนโดยสมัครใจ เพื่อร่วมแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่เข้มแข็งที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
Background
CAC ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 จากความริเริ่มของภาคเอกชนไทย ภายใต้การริเริ่มของคุณชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการ IOD เพื่อให้บริษัทที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำธุรกิจโปร่งใสสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในรูปแบบของแนวร่วม หรือ Collective Action โดยมุ่งสร้างและขยายแนวร่วมในภาคเอกชน เพื่อสร้างกระแสการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการที่จะปฏิเสธการรับและจ่ายสินบน รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ซึ่งจะช่วยสร้างระบบนิเวศของการทำธุรกิจที่โปร่งใส นอกจากนี้ CAC ยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับภาคธุรกิจเอกชน โดยการประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปรามปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรเพื่อพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเรื่องปัญหาคอร์รัปชันที่ภาคเอกชนประสบ
CAC จัดตั้งขึ้นโดย 8 องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการขับเคลื่อนโครงการ
รายนามคณะกรรมการ CAC
- นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ
- นายเกริกไกร จีระแพทย์ กรรมการ
- นายสุรงค์ บูลกุล กรรมการ
- นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ กรรมการ
- นายวิเชียร พงศธร กรรมการ
- นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการ
- นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการ
- ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กรรมการ
- ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ กรรมการ
- นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการ
- นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการและเลขานุการ
ที่มา: THAI IOD