นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวชี้แจง ประเด็นสื่อออนไลน์มีการวิจารณ์ว่า สถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าเมื่อลูกจ้างได้รับเงินเยียวยาของรัฐบาล ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้จ่ายเงินเยียวยาให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สำหรับ 9 กลุ่มกิจการ เฉพาะจังหวัดที่กำหนด โดยลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินเยียวยา จำนวน 2,500 บาท นั้น นายจ้างจะหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากเงินเดือน โดยอ้างว่ารัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนให้แล้ว ซึ่งในกรณีนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความกังวลและห่วงใยลูกจ้างอาจไม่ได้รับสิทธิตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการเยียวยาผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาครั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การกระทำดังกล่าวของนายจ้างถือเป็นการละเมิดสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้รับ จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตรวจสอบพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งกรมขอชี้แจงว่า กรณีเงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้กับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 คนละ 2,500 บาท เป็นเงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้าง ส่วนเงินค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในแต่ละเดือนเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานให้กับลูกจ้างที่ทำงานให้ ดังนั้นนายจ้างไม่สามารถนำเงินเยียวยา ตามมาตรา 33 ที่ลูกจ้างได้รับมาหักจากค่าจ้างได้ การหักค่าจ้างเช่นนี้ ถือเป็นการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขอเตือนนายจ้างที่คิดจะหักค่าจ้างลูกจ้างที่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล ไม่ว่าลูกจ้างจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม หากฝ่าฝืนมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546
ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน