ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ในส่วนของ สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) เพื่อดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ ภายใต้การดำเนินงานดังกล่าว วว. จึงได้จัดตั้ง ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน (Community Seed Bank) ขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งสำหรับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแบบนอกถิ่นที่อยู่อาศัย (Ex situ Conservation) โดยการสร้างสภาพแวดล้อมในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้คงความมีชีวิตและอยู่ได้นานที่สุด ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชนแห่งนี้ จะเป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชป่าและพืชพื้นเมือง เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของประเทศไทย โดยจะทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมและเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่ดีและพืชที่มีความสำคัญต่องานด้านการอนุรักษ์
"...การจัดตั้ง ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน สอดคล้องกับนโยบาย BCG Model ของรัฐบาลซึ่งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและวิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าว พืชผัก ในภูมิภาค เพื่อผลักดันระบบการเกษตรไทยสู่การเกษตรยั่งยืนบนความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมต่อยอดการพัฒนาเมล็ดพันธุ์เป็นสินค้าส่งออกในอนาคต ทั้งนี้ วว. เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานของธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน จะช่วยตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
นายมนตรี แก้วดวง ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน มุ่งดำเนินงานขับเคลื่อนใน 3 มิติหลัก คือ 1.การสำรวจและการอนุรักษ์ เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืช ทั้งพืชป่า พืชพื้นเมือง และพืชป่าใกล้เคียงพืชปลูก รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานทางด้านเมล็ดพันธุ์ 2.การวิจัยและการนำไปใช้ประโยชน์ ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืช ศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเมล็ดพันธุ์นำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และ 3.การบริการชุมชน ได้แก่ งานบริการรับฝากเมล็ดพันธุ์เพื่ออนุรักษ์ในธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช ทั้งในส่วนของบุคคล ชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชบางชนิดเพื่อการวิจัยและการใช้ประโยชน์ รวมทั้งการให้บริการด้านวิชาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืช การใช้ประโยชน์และการดำเนินงานของธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน เช่น ศึกษาดูงาน ให้คำปรึกษาด้านเมล็ดพันธุ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเมล็ดพันธุ์สู่ชุมชน
ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน วว. ดำเนินงานเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์จากการสำรวจและงานวิจัย 80% งานบริการรับฝากเมล็ดพันธุ์ 20% มีความพร้อมของบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญด้านการวิจัยและพัฒนาด้านเมล็ดพันธุ์ มีห้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ระยะปานกลาง (4 องศาเซลเซียส) เพื่อการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง โดยเฉลี่ยประมาณ 2-20 ปี และมีห้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ระยะยาว (-20 องศาเซลเซียส) เพื่อการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชในระยะยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 20-50 ปี มีศักยภาพในการเก็บรักษาตัวอย่างเมล็ดพืชสูงสุด ประมาณ 10,000 ตัวอย่าง ปัจจุบันได้เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์จำนวน 140 ชนิด โดยมีเมล็ดพืชที่พบเฉพาะในประเทศไทย (endemic species) 20 ชนิด
ทั้งนี้ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน วว. เปิดให้ผู้สนใจ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไปเข้าศึกษา อบรม และรับการถ่ายทอดความรู้ด้านเมล็ดพันธุ์ ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ 333 หมู่ 12 ถ. มิตรภาพ ต. หนองสาหร่าย อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา 30130 โทรศัพท์/โทรสาร 044-390107 ,044-390150 ,คุณเบญจมาศ 088-1911144 , คุณอรุณวรรณ 087-8793330 E-mail : [email protected]
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย