นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการฝึกอบรมภาษาจีนเพื่อธุรกิจ สำหรับนักเรียน นักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถภาษาจีนสำหรับธุรกิจ เพื่อเป็นสะพานในการสื่อสารและการค้าขาย ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนสามารถเป็นผู้ประกอบการใหม่ได้ในอนาคต ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 13 - 15 สิงหาคม 2564 มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมกว่า 90 แห่ง นักเรียน นักศึกษาจำนวน 1,290 คน
รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่า การใช้ภาษาจีนในการติดต่อค้าขายทำธุรกิจ มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจกับคนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงธุรกิจ การมีทักษะการใช้ภาษาจีน ทั้งด้านการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนจะเป็นประโยชน์ต่อการเจรจาทางธุรกิจ และการดำเนินงานธุรกิจประเภทต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีความต้องการพัฒนาการอาชีวศึกษาของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อป้อนสู่ตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ยุคใหม่ที่เน้นระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ โดยเฉพาะแรงงานจะต้องมีความรู้ ความสามารถในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจำเป็นต้องยกระดับการผลิต ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการผลิต และพัฒนากำลังคนสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
ด้านศาสตราจารย์ เสิ่น ยี่ ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินงานด้านการเรียนการสอนภาษาจีน การสอบวัดระดับภาษาจีน และการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการในด้าน "ภาษาจีน+ อาชีวศึกษา" เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างไทย-จีน อาทิ โครงการเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนหลักสูตร Mini Chinese Program (MCP) การอบรม โครงการ E-Commerce เพื่อผู้ประกอบการใหม่ (E-commerce1+X) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โครงการทุนการศึกษาต่อที่ประเทศจีนภายใต้สัญญาความร่วมมือ "สัมพันธมิตรอาชีวศึกษาไทย-จีน"
ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 จึงได้จัดการอบรมผ่านทางรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่แสดงให้เห็นถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่องานด้านการสอนภาษาจีน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมให้มีความโดดเด่นและเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา