นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดของโครงการนี้ว่า เป็นโครงการที่สมาคมฯผลักดันอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าสองปี นับตั้งแต่มีประกาศตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 (ม.44) ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของผลการสำรวจความนิยมของผู้ชมเป็นตัวแปรสำคัญในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาคุณภาพรายการของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลซึ่งเป็นสื่อหลักของชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้ชมทั้งผ่านจอทีวีและจอออนไลน์ โดยโจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไร ? ให้เกิดความน่าเชื่อถือ แม่นยำ และสามารถตรวจสอบความโปร่งใสในที่มาของกลุ่มตัวอย่างและระเบียบวิธีวิจัยในมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนารูปแบบรายการ และมีเดียเอเจนซีผู้นำไปใช้ประโยชน์วางแผนในการซื้อสื่อโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สมาคมฯได้ดำเนินการสรรหา และเปิดโอกาสให้บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสมนำเสนอแผนงานการสำรวจความนิยมแบบใหม่ต่อสมาชิกผู้ประกอบการทีวีระบบดิจิตอลทุกช่อง และตัวแทนมีเดียเอเจนซี ร่วมพิจารณาคัดเลือก จนสุดท้ายมีมติให้ นีลเส็น ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ มีชื่อเสียง และมาตรฐานการสำรวจวิจัยระดับสากล เป็นผู้รับจ้างดำเนินการสำรวจความนิยมครั้งนี้ จากนั้นสมาคมฯก็ได้ยื่นเสนอรายละเอียดของแผนงานการบริหารจัดการโครงการต่อ กสทช.ตามเงื่อนไขจนได้รับการพิจารณาจัดสรรงบสนับสนุนจำนวน 288,898,105 บาท (สองร้อยแปดสิบแปดล้านแปดแสนเก้าหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยห้าบาทถ้วน) เพื่อเริ่มดำเนินการสำรวจความนิยมโทรทัศน์แบบใหม่ในกรอบระยะเวลาทั้งหมด 4 ปี
สำหรับสาระสำคัญในการสำรวจความนิยมโทรทัศน์แบบใหม่นี้ จะขยายหน่วยตัวอย่างที่ใช้เป็นพื้นฐานพัฒนาเรตติ้งรายการ จากเดิม 9,000 ตัวอย่าง เป็น 13,000 ตัวอย่าง ควบคู่กับการพัฒนาโปรแกรมการสำรวจ (Software) ระบบใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การวัดความนิยมของรายการโทรทัศน์แบบข้ามแพลทฟอร์ม (Cross Platform) ทั้งจากหน้าจอทีวีภาคพื้นดินและหน้าจอของแพลทฟอร์มออนไลน์ โดยมีผู้ตรวจสอบอิสระที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลตรวจสอบความเที่ยงตรงและโปร่งใสของการสำรวจความนิยมครั้งนี้โดยตลอด อีกทั้งไม่ได้จำกัดการรายงานผลการสำรวจความนิยมให้เฉพาะผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล และ กสทช. เท่านั้น ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานราชการ , หน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา ได้รับประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวอีกด้วย
หลังจากที่ได้เซ็นสัญญาบันทึกความเข้าใจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมฯ และ นีลเส็น ก็เริ่มดำเนินการตามแผนงานทันที โดยในช่วงปีแรกของการดำเนินการครั้งนี้จะเป็นขั้นตอนการติดตั้งระบบ อุปกรณ์ และขยายกลุ่มตัวอย่าง เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนเก็บผลสำรวจต่อไป โดยคาดว่าจะได้รายงานผลสำรวจความนิยมของรายการโทรทัศน์แบบข้ามแพลทฟอร์มชุดแรกประมาณเดือน สิงหาคม 2565
การสำรวจความนิยมรายการโทรทัศน์แบบข้ามแพลทฟอร์มนี้ เป็นเทคโนโลยีระบบการวิจัยล่าสุดที่ นีลเส็น ได้พัฒนาและเริ่มใช้แล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก ล่าสุดได้ทำการติดตั้งระบบที่ประเทศเดนมาร์ก และซาอุดิอาระเบีย ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะใช้ระบบการวัดทีวีเรตติ้งแบบใหม่นี้
ที่มา: สมาคมทีวีดิจิตอล