นายฉลอง ติรไตรภูษิต ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้จัดระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียว รักษาตัวเองจากที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อลดการแพร่เชื้อภายในครอบครัวและชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจัดให้มีทีมแพทย์คอยติดตามอาการ พร้อมชุดเวชภัณฑ์และยาที่จำเป็น แต่หากผู้ป่วยมีความประสงค์ต้องการเดินทางกลับไปรักษาตัวตามภูมิลำเนา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน มูลนิธิและอาสาสมัครต่างๆ พร้อมให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก โดยจัดรถนำส่งผู้ป่วยกลับถึงภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย
PTG ในฐานะผู้ให้บริการสถานีบริการน้ำมัน PT ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนหน่วยงานและร่วมเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติภารกิจนำผู้ป่วยโควิด-19 ส่งไปรักษาที่ภูมิลำเนา และช่วยลดภาระด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดย PTG ได้ส่งมอคูปองเติมน้ำมัน PT มูลค่า 100,000 บาท ให้กับมูลนิธิเพื่อพัฒนาการแพทย์ทางเลือก (ประเทศไทย) เพื่อใช้เติมน้ำมันในสถานีบริการน้ำมัน PT ทั่วประเทศ สำหรับรถยนต์ที่ใช้ปฏิบัติภารกิจเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 จากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งกลับไปรักษาตัวยังภูมิลำเนา รวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากบ้านถึงสถานพยาบาล
"PTG ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังรุนแรง บริษัทฯ ได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งเป็นสื่อกลางให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบก้าวผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปได้ โดย PTG พร้อมสนับสนุนภารกิจเกี่ยวกับโควิด-19 ของทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่องต่อไป" นายฉลอง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กลุ่ม PTG ได้มอบคูปองเติมน้ำมัน เพื่อสนับสนุนภารกิจทางการแพทย์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ให้กับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และโครงการ "Back Home" พาผู้ป่วยโควิด กลับไปรักษาตัว ที่โรงพยาบาลบ้านเกิด ของมูลนิธิเพชรเกษมและเพจอีจัน รวมมูลค่า 150,000 บาท
ขณะที่ ดร. นายแพทย์ไพโรจน์ บุญสริริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณ PTG ที่ให้ความสำคัญในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน ของมูลนิธิเพื่อพัฒนาการแพทย์ทางเลือก(ประเทศไทย) ด้วยการมอบคูปองน้ำมันสนับสนุนภารกิจนำส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่รอเข้ารับการรักษาไปส่งโรงพยาบาล หรือนำผู้ป่วยกลับไปรักษาในภูมิลำเนา เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกทางหนึ่ง
ที่มา: เดอะเวย์ คอมมิวนิเคชั่น