ในฐานะสถาบันการเงินที่ลงนามรับหลักการอีเควเตอร์ กลุ่มธนาคารยูโอบีมุ่งมั่นนำหลักการอีเควเตอร์มาใช้ในนโยบาย กระบวนการ และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการ
นาย เอริค ลิม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า "ในฐานะสถาบันการเงินที่ลงนามรับหลักการอีเควเตอร์ ธนาคารขอรับรองว่าจะนำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกนี้มาใช้กับสินเชื่อโครงการที่ธนาคารสนับสนุน ตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาโครงการ ตลอดจนการติดตามการดำเนินการ การนำหลักการอีเควเตอร์มาใช้เป็นการเน้นให้เห็นถึงความพยายามในการผสมผสานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและให้เป็นไปตามกลยุทธ์ทางธุรกิจและการอนุมัติสินเชื่อ อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนและผลักดันให้ลูกค้าทั่วภูมิภาคเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล"
กลุ่มธนาคารยูโอบีมีนโยบายในการติดตามความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) อย่างสม่ำเสมอ การนำหลักการอีเควเตอร์มาใช้ จะช่วยเสริมกระบวนการและการดำเนินการของธนาคารให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับแนวทางด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยมีนโยบายการอนุมัติสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบเป็นหลักรวมถึงในเรื่องการเปิดเผยข้อมูล
และเพื่อสนับสนุนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติของประเทศต่างๆ ที่ธนาคารดำเนินงานอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารยังได้ร่วมมือกับลูกค้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีโซลูชั่นการเข้าถึงเงินทุนที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน พลังงานทดแทนและการเปลี่ยนถ่ายพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงด้านพลังงาน รวมถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน โซลูชั่นเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกรอบแนวคิดการเข้าถึงเงินทุนที่ยั่งยืนของธนาคาร เช่น กรอบแนวคิดการเข้าถึงเงินทุนที่ยั่งยืนเพื่อเมืองอัจฉริยะ (UOB Smart City Sustainable Finance Framework หรือ UOBSCSFF) กรอบแนวคิดด้านสินเชื่อและบริการเพื่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศสีเขียว (UOB Green Trade Finance Framework) กรอบแนวคิดการเข้าถึงเงินทุนที่ยั่งยืนเพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (UOB Real Estate Sustainable Finance Framework) และกรอบแนวคิดเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนสีเขียว (UOB Green Circular Economy Framework) ซึ่งจากตัวเลข ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 กลุ่มธนาคารยูโอบีได้อนุมัติสินเชื่อเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืนแก่ลูกค้าไปแล้วทั้งสิ้น 1.3 หมื่นล้านเหรียญสิงคโปร์ดอลลาร์
ที่มา: ธนาคารยูโอบี