นายสไกร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการบริหารจัดการนั้น เพื่อความคล่องตัวและปฏิบัติงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย ในส่วนภูมิภาค กองทุนฟื้นฟูฯ ได้เน้นยกระดับการให้บริการ โดยจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 11 กลุ่มย่อย ซึ่งแต่ละกลุ่มจะประกอบด้วย 6 จังหวัด เพื่อร่วมกันดำเนินงาน พร้อมทั้งมี ผู้อำนวยการภาคเป็นผู้กำกับดูแลพื้นที่ทั้ง 4 ภาค ขณะที่ส่วนของผู้ปฏิบัติงาน ที่ประจำในสาขาจังหวัดต่าง ๆ เฉลี่ยจังหวัดละ 5-7 คน นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการจัดประชุมผู้ปฏิบัติงานในทุกจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจในการให้บริการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และฟื้นฟูอาชีพตามภาระหน้าที่ เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง อันเป็นมาตรการเสริมด้านบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแต่ละจังหวัดสาขา
" ดังนั้น ถ้าเกษตรกรอยู่จังหวัดไหน สามารถเดินเข้าไปที่ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ สาขาจังหวัดได้เลย ขณะที่ช่องทางการสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ ไปยังพี่น้องเกษตรกรได้มีการจัดทำครบทุกรูปแบบ ตั้งแต่การติดต่อทางโทรศัพท์ เอกสารประชาสัมพันธ์ ทางสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุม เพื่อปัญหาเรื่องหนี้สิน หรือต้องการได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อฟื้นฟูอาชีพ สามารถจะโทรศัพท์สอบถามหรือเข้าไปติดต่อที่สาขาจังหวัดได้ตลอดในช่วงวันและเวลาทำการ พร้อมกันนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ ยังได้มีความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ในการใช้กลไกของหน่วยงานปกครองในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ร่วมประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ เช่น ผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน อีกทั้งหัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัดจะต้องมีการทำงานที่ประสานกับนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด ด้วยการเข้าร่วมประชุมทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สิน และการฟื้นฟูอาชีพ ตามนโยบายที่กำหนด"
นายสไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้น จึงขอฝากถึงพี่น้องเกษตรกรที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก ถ้าสนใจสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสาขาจังหวัด หรือมีความประสงค์จะรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นองค์กรเกษตรกรสมาชิก โดยรวบรวมพี่น้องเกษตรกรที่อยู่ในหมู่บ้าน ตำบลเดียวกัน จำนวนตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป มาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกได้ตามจังหวัดที่ตั้งอยู่ เพราะกองทุนฟื้นฟูฯ ถือเป็นนโยบายสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ตามเจตนารมย์ในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ
ที่มา: กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร