บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เผยแพร่บทวิเคราะห์ แนะนำ "ซื้อ" หุ้น บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) (AMR) ประเมิน Fair Value ปี 2564 เท่ากับ 8.58 บาท/หุ้น และปี 2565 เท่ากับ 9.76 บาท/หุ้น อ้างอิงวิธี PE ที่ 26 เท่า ซึ่งเป็นระดับ Conservative ปรับลดจากค่า P/E เฉลี่ยย้อนหลังของบริษัทที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันที่จดทะเบียนในตลาดต่างประเทศที่ราว 32 เท่า คำนวณบน EPS ปี 2564 ที่ 0.33 บาท/หุ้น และปี 2565 ที่ 0.38 บาท/หุ้น ตามลำดับ โดยไม่รวม Upside จากแผนการใช้เงินที่ได้จาก IPO เพื่อลงทุนต่อยอดธุรกิจในประมาณการ พร้อมกันนี้ AMR มีประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.08 บาท/หุ้น กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 30 ส.ค. 2564
ในไตรมาส 2/64 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 50 ล้านบาท (+69.6% QoQ, +7.5% YoY) ปัจจัยหลักจากอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับสูง และการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ แม้รายได้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาส 2/64 มีรายได้จำนวน 390 ล้านบาท (+15.6% QoQ, -38.1% YoY)
ทั้งนี้ อัตรากำไรขั้นต้น 28.5% (18.3% ใน 2Q63, 27.8% ใน 1Q64) เพิ่มขึ้นจากทุกธุรกิจ โดยงานโครงการและให้บริการมี GPM ที่ 30% (18% ใน 2Q63) จากการควบคุมต้นทุนงานวางระบบรถไฟฟ้าได้ดีขึ้น และงานขาย มี GPM ที่ 19% (5% ใน 2Q63) จากงานที่รับมีอัตรากำไรที่ดีกว่าปีก่อน กอปรกับการควบคุมต้นทุนในส่วนงานขายได้ดีขึ้น
สำหรับกำไรสุทธิงวด 1H/2564 เท่ากับ 79 ล้านบาท (+46%YoY) คิดเป็นสัดส่วนราว 41% ของประมาณการทั้งปี 2564 ที่ 195 ล้านบาท (-21.2% YoY) โดยเรายังคงประมาณการเดิมไว้ มองว่า 2H/2564 จะดีกว่าครึ่งแรกของปี จาการรับรู้รายได้และกำไรจากงานที่ทยอยส่งมอบ
นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) (AMR) ผู้นำด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่น (System Integrator : SI) ครบวงจรรายแรกของไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) จำนวน 1,250 ล้านบาท และมีโครงการที่อยู่ระหว่างรอลงนามในสัญญาช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จำนวน 527 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างเสนอและเตรียมการเสนอราคา เกี่ยวข้องกับงานโครงการและวางระบบคมนามคมขนส่ง ระบบ ICT ระบบพลังงาน ระบบสาธารณูปโภค และเมืองอัจฉริยะ มูลค่าสัญญา 2,439 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมการเสนอราคางานรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีม่วงใต้ที่คาดว่าจะเปิดประมูลปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 และระบบขนส่งเมืองหลัก
กรรมการผู้จัดการ AMR กล่าวอีกว่า หลังจากเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ฐานทุนของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชน ด้านคมนาคมขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน งานด้านไอทีโซลูชั่น เมืองอัจฉริยะ และงานนำระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดิน มูลค่านับแสนล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณงานในมือ (Backlog) ขึ้นปีละ 2,000 ล้านบาท ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าตามแผนงานที่วางไว้
สำหรับเงินที่ได้รับจาก IPO บริษัทฯ เตรียมนำไปใช้สำหรับการขยายการลงทุน เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) ไม่ว่าจะเป็นการขยายไลน์ธุรกิจเข้าสู่การเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายรองย่านรังสิต (Feeder Line) ลงทุนเป็นผู้ให้บริการเคเบิลคาร์เพื่อการท่องเที่ยว ติดตั้ง Solar Rooftop โดยเป็นผู้ลงทุนแบบแบ่งรายได้ และให้บริการสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ (EV Charger Station) ซึ่งถือเป็น New S curve สนับสนุนธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต
ที่มา: หลักทรัพย์ ทรีนีตี้